- IM3 และ BNI ของอินโดนีเซีย ติดอันดับ Top 30 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการจัดอันดับของ Kantar BrandZ เป็นครั้งแรกในปี 2567
- BRI และ AIS โตแรงสุด มูลค่าพุ่งถึง 30% เมื่อเทียบกับปี 2566
- ธนาคารและเทเลคอมยักษ์ใหญ่แข่งโชว์ศักยภาพด้านดิจิทัล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ลูกค้า
สิงคโปร์, 26 กรกฎาคม 2567 /PRNewswire/ — Bank Central Asia (BCA) ยักษ์ใหญ่ในวงการธนาคารของอินโดนีเซีย ได้ตอกย้ำความเป็นผู้นำใน การจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง Kantar BrandZ Top 30 Most Valuable Southeast Asian Brands ประจำปีที่สอง แบรนด์นี้มีมูลค่าสูงถึง 2.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21% ในเวลาเพียงปีเดียว ความสำเร็จของ BCA มาจากการสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ และตอกย้ำความแตกต่างได้อย่างโดดเด่น โดยขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องด้วยการขยับขยายบริการธนาคารดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ รวมถึงคิดค้นฟีเจอร์และสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ ส่วนอีกหนึ่งธนาคารจากอินโดนีเซียอย่าง BRI ได้แซงหน้า DBS ของสิงคโปร์ขึ้นมาครองอันดับสอง ในขณะที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยอย่าง AIS ขยับขึ้นมาอยู่อันดับสี่
แบรนด์มูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการจัดอันดับประจำปี 2567 ของ Kantar BrandZ
อันดับในปี 2567 | แบรนด์ | หมวดธุรกิจ | มูลค่าแบรนด์ปี 2567 (หลักล้านดอลลาร์สหรัฐ) | % การเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบเป็นรายปี |
1 | BCA | บริการทางการเงิน | 28,267 | 21 % |
2 | BRI | บริการทางการเงิน | 11,258 | 30 % |
3 | DBS | บริการทางการเงิน | 11,086 | -6 % |
4 | AIS | บริการโทรคมนาคม | 8,843 | 30 % |
5 | Mandiri | บริการทางการเงิน | 8,344 | 26 % |
6 | UOB | บริการทางการเงิน | 6,597 | -8 % |
7 | Shopee | ค้าปลีก | 4,832 | 5 % |
8 | Telkomsel | บริการโทรคมนาคม | 4,597 | -1 % |
9 | Marina Bay Sands | บริการท่องเที่ยว | 4,412 | 0 % |
10 | True | บริการโทรคมนาคม | 3,706 | 18 % |
มูลค่ารวมของ 30 แบรนด์ชั้นนำในภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ อยู่ที่ 1.313 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดย 19 แบรนด์มีมูลค่าสูงกว่าปี 2566 ขณะที่แบรนด์ที่มีมูลค่าเติบโตมากขึ้นเร็วที่สุดมาจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งแบรนด์ไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด ตามด้วยเวียดนามและอินโดนีเซีย สำหรับสัดส่วนมูลค่าแบรนด์สูงสุดมาจากอินโดนีเซีย (46%) ตามด้วยสิงคโปร์ (32%) และไทย (11%)
IM3 และ BNI แจ้งเกิดครั้งแรก
ปีนี้มีสองแบรนด์หน้าใหม่ติดท็อป 30 โดยที่ทั้งคู่มาจากอินโดนีเซีย โดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่าง IM3 เข้ามาอยู่อันดับ 28 ส่วน BNI (Bank Negara Indonesia) อยู่อันดับ 30 ทั้งนี้ IM3 (มูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์) อำนวยความสะดวกด้วยเครือข่าย 4G ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 17,500 เกาะ พร้อมแพ็กเกจยืดหยุ่นตอบโจทย์ความต้องการได้หลากหลาย ด้าน BNI (มูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์) สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างแข็งขัน และให้บริการดิจิทัลและระบบโอเพนแบงกิงที่ไหลลื่นเพื่อยกระดับความสะดวกสบาย
แบรนด์กลุ่มบริการและโครงสร้างพื้นฐานครองตลาด
30 แบรนด์ชั้นนำมาจากหลากหลายหมวดหมู่ ตั้งแต่อาหาร ธนาคาร ไปจนถึงเบียร์ แต่กลุ่มบริการทางการเงิน (+15%) และผู้ให้บริการโทรคมนาคม (+14%) เติบโตมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ภาคส่วนเหล่านี้รับหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภูมิภาค ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้พัฒนาบริการให้ดีขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น แบรนด์บริการทางการเงินมี 12 แบรนด์ใน 30 อันดับแรก คิดเป็น 60% ของมูลค่าแบรนด์รวม ส่วนผู้ให้บริการโทรคมนาคม 9 รายคิดเป็น 22% ของมูลค่ารวม ขณะที่ 3 แบรนด์ค้าปลีกมีสัดส่วน 7%
BRI และ AIS มีมูลค่าเติบโตมากที่สุด
แบรนด์ในกลุ่มบริการทางการเงินอย่าง BRI และ AIS มาแรงสุดในปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าพุ่งขึ้น 30% ตามมาด้วย Maybank (อันดับ 22 มูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ โต 27%) Mandiri (อันดับ 5 มูลค่า 8.3 พันล้านดอลลาร์ โต 26%) และ Digi (อันดับ 25 มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ โต 25%) BRI มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตชาวอินโดฯ มาอย่างยาวนาน ด้วยการให้บริการทางการเงินที่เข้าถึงง่ายและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งซูเปอร์แอปธนาคารมือถืออย่าง BRImo ช่วยผลักดันการเข้าถึงบริการทางการเงิน ความรู้ด้านดิจิทัล และมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้ลูกค้าทั่วประเทศ
Katie McClintock กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Kantar กล่าวว่า "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยพื้นฐานจากโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่กำลังพัฒนาและรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น สองปัจจัยนี้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในสินค้าและบริการมากขึ้น และกำลังจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยสิ่งที่เคยเป็นเพียง ‘ความต้องการ’ กลายเป็น ‘ความจำเป็น’ แบรนด์ที่ยอดเยี่ยมจะมุ่งเน้นสิ่งที่ทำให้ตัวเองแตกต่าง โดยโฟกัสที่การทำให้ชีวิตผู้บริโภคดีขึ้นอย่างมีความหมาย แล้วสื่อสารออกมาอย่างชัดเจน สม่ำเสมอ และสร้างสรรค์ แบรนด์ที่ทำได้แบบนี้จะมีโอกาสเติบโตอย่างมากทั้งในตลาดบ้านเกิดและทั่วโลก"
แนวโน้มอื่น ๆ ในการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 30 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2567 ของ Kantar BrandZ
- ผู้บริโภคมองว่าแบรนด์ส่วนใหญ่ในท็อป 30 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุ้มกับราคาที่จ่ายไป ต่างจากแบรนด์ทั่วไปในภูมิภาคที่เพียง 66% ถูกมองว่าคุ้มค่า
- Indomie (อันดับ 15 มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์) รั้งแชมป์แบรนด์ที่มีความหมายที่สุด เพราะปรับตัวตามเทรนด์ผู้บริโภค และสร้างนวัตกรรมตามความชอบของลูกค้า แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม โดยปี 2566 ได้เปิดตัวคอลเลกชันรสราเมงญี่ปุ่นเกรดพรีเมียม พร้อมจัดบูธให้ชิมฟรีทั่วประเทศ
- ตลาดต่างประเทศเป็นโอกาสทองที่รอให้กอบโกย สำหรับแบรนด์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการบุกตลาดใหม่และเติบโตต่อ ปัจจุบันยอดขายต่างประเทศของท็อป 30 อยู่แค่ 16% เทียบกับท็อป 30 ของญี่ปุ่นที่มากถึง 49%
- 93% ของแบรนด์ระดับท็อป 30 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดเด่นที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ แบรนด์ที่เน้นจุดนี้มีมูลค่าเติบโตเร็วกว่าคู่แข่งกว่าเท่าตัว ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าแบรนด์มาจากการตอบโจทย์ลูกค้าและความโดดเด่นในตลาด
- แบรนด์ที่ลงทุนในปัจจัยเร่งมูลค่าครบทั้ง 3 ด้าน โตเร็วกว่าถึง 10% เมื่อเทียบกับแบรนด์ที่ทำแค่ 2 ด้าน โดย Blueprint for Brand Growth ของ Kantar ระบุว่ามีปัจจัยสำคัญ 3 ประการในการพัฒนามูลค่าแบรนด์ ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจให้คนเลือกแบรนด์ การปรากฏตัวในจุดที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ และการหาพื้นที่ใหม่ ๆ ให้เติบโตได้ ซึ่งแบรนด์ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แข็งแกร่งในทั้ง 3 ด้านนี้
ดูผลการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Kantar BrandZ รวมถึงรายงานและผลวิเคราะห์โดยละเอียดได้ที่นี่
สำหรับผู้ที่ต้องการดูผลการดำเนินงานของแบรนด์เทียบกับคู่แข่งในหมวดหมู่เดียวกันอย่างรวดเร็ว Kantar มีเครื่องมือแบบอินเตอร์แอคทีฟให้ใช้ได้ฟรีอย่าง BrandSnapshot powered by BrandZ ให้ข้อมูลวิเคราะห์แบรนด์มากถึง 14,000 แบรนด์ โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
เกี่ยวกับ Kantar BrandZ: Kantar BrandZ เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ประเมินมูลค่าแบรนด์ โดยวัดการมีส่วนร่วมของแบรนด์ที่มีต่อผลประกอบการทางการเงินของธุรกิจ โดยการจัดอันดับการประเมินมูลค่าแบรนด์ระดับโลกและระดับประเทศประจำปีของ Kantar นั้น รวมข้อมูลทางการเงินที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างเข้มงวด เข้ากับการศึกษาตัวแบรนด์อย่างครอบคลุม BrandZ ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์กับผู้นำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2541 จากการสัมภาษณ์ผู้บริโภค 4.3 ล้านคน ให้แบรนด์ต่าง ๆ ราว 21,000 แบรนด์ในตลาด 54 แห่ง ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Kantar BrandZ ได้ที่นี่
การจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 30 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2567 ของ Kantar BrandZ คือการจัดอันดับแบรนด์ในภูมิภาคที่มีความน่าเชื่อถือและเข้มแข็งมากที่สุด การจัดอันดับนี้รวบรวมความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 98,000 ราย โดยถามเกี่ยวกับแบรนด์ต่าง ๆ รวมกันราว 1,800 แบรนด์ ใน 70 หมวดธุรกิจ ซึ่งแบรนด์จะมีสิทธิได้รับการจัดอันดับเมื่อมีคุณสมบัติตามเกณฑ์เหล่านี้
- แบรนด์ต้องมีต้นกำเนิดในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย หรือเวียดนาม
- แบรนด์ต้องเป็นของบริษัทจดทะเบียน
- แบรนด์ที่จัดอันดับเป็นแบรนด์ที่ให้บริการลูกค้าเอง
เกี่ยวกับ Kantar: Kantar เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยการตลาดชั้นนำของโลก และเป็นพันธมิตรด้านแบรนด์ที่ทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำของโลก เรารวมข้อมูลด้านทัศนคติและพฤติกรรมที่มีความหมายมากที่สุดเข้ากับความเชี่ยวชาญและการวิเคราะห์อย่างล้ำลึก เพื่อเผยให้เห็นวิธีคิดและการกระทำของผู้คน เราช่วยให้แบรนด์ต่างๆ เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและสาเหตุ พร้อมเผยแนวทางวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของลูกค้า