เอซและแอคมีคืบหน้าการพัฒนาตามเฟสเพื่อรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่ว 20,000 เมตริกตันต่อปี โดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภท 1
ไทเป, 15 ม.ค. 2567/พีอาร์นิวส์ไวร์/ — เอซ กรีน รีไซคลิง (เอซ) (ACE Green Recycling: ACE) ประสบความสำเร็จในการส่งมอบเทคโนโลยีของบริษัทในการรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่วแบบโมดูลาร์เฟสแรกจากทั้งหมดสามเฟสให้กับโรงงานของแอคมี เมทัล เอนเตอร์ไพรส์ (ACME Metal Enterprise) ในเมืองจีหลง ประเทศไต้หวัน ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เอซจะจัดหาอุปกรณ์และสารเคมีที่เป็นกรรมสิทธิ์เพื่อให้แอคมีสามารถผลิต "GreenLead™" ได้อย่างปลอดภัย ยั่งยืน และประหยัด นี่เป็นครั้งที่สองที่นำเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่วที่เอซเป็นเจ้าแรก ๆ ที่มีมาใช้ได้สำเร็จ
แอคมีเป็นผู้นำในการรีไซเคิลตะกั่วของไต้หวัน ด้วยการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จมากว่า 40 ปี เมื่อร่วมมือกับเอซ แอคมีจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตตะกั่วไร้มลพิษรายใหญ่ที่สุด ด้วยความสามารถในการรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่ว 20,000 เมตริกตันต่อปี เพื่อผลิต "GreenLead™" ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประมาณ 12,000 เมตริกตัน ซึ่งสร้างรายได้เกือบ 24 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีให้กับบริษัทสัญชาติไต้หวันดังกล่าว
ไลนัส พี. หลู่ (Linus P. Lu) กรรมการผู้จัดการของแอคมี กล่าวถึงความตกลงดังกล่าวว่า "เราทั้งตื่นเต้นและยินดีที่ติดตั้งเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่วของเอซที่โรงงานของเราได้สำเร็จเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับแอคมีในการที่เราสร้างความสามารถที่จะรีไซเคิลตะกั่วอย่างยั่งยืนได้ ไม่ใช่แค่เพื่อบริษัทเราเท่านั้น แต่เพื่อระบบนิเวศน์แบตเตอรี่ตะกั่วทั้งหมดอีกด้วย"
แบตเตอรี่ตะกั่วเป็นองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์และโทรคมนาคม ขณะเดียวกันก็มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนพลังงานสำหรับการกักเก็บพลังงานหมุนเวียน ตามปกติแล้วแบตเตอรี่ตะกั่วจะถูกรีไซเคิลผ่านกระบวนการถลุงซึ่งใช้อุณหภูมิในการทำงานสูงกว่า 1,000°C ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงขยะมูลฝอยที่เป็นพิษที่ต้องนำไปฝังกลบ
เทคโนโลยีของเอซในการรีไซเคิลที่อุณหภูมิห้องใช้พลังงานไฟฟ้าได้เข้ามาแทนที่เตาถลุง ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภท 1 และลดขยะมูลฝอยได้มากกว่า 85% กระบวนการนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของแอคมีได้มาก และลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดได้
เฟสที่ 1 ของข้อตกลงสำหรับปริมาณ 2,400 เมตริกตันต่อปีสามารถส่งมอบให้กับแอคมีได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2566 โดยเฟสที่ 2 และ 3 จะเพิ่มกำลังการรีไซเคิลตต่อปีเป็นประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งจะดำเนินการต่อในปลายปีนี้ ในช่วงระยะเวลาสัญญา 10 ปีอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้สามารถรีไซเคิลเศษแบตเตอรี่ได้มากกว่า 14 ล้านก้อน ซึ่งจะช่วยป้องกันการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) เกือบ 120 ล้านกิโลกรัม ป้องกันไม่ให้ขยะมูลฝอย 18 ล้านกิโลกรัมถูกฝังกลบ และช่วยให้สามารถรีไซเคิลพลาสติกได้มากกว่า 14 ล้านกิโลกรัม ในขณะเดียวกันก็สร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและค่าตอบแทนสูงให้กับชุมชนได้
ความร่วมมือกับแอคมีนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่หยั่งรากลึกของเอซในตลาดแบตเตอรี่ ยอดขาย GreenLead™ จากโรงงานของแอคมีจะเข้าถึงตลาดสำคัญของไต้หวันและญี่ปุ่น รวมถึงผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำทั่วเอเชีย
"เป้าหมายของเราในฐานะแพลตฟอร์มเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่คือการช่วยให้ผู้เล่นทุกคนในระบบนิเวศน์บรรลุไม่เพียงแค่เป้าหมายเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วย" นิชเชย์ ชาดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอซ ล่าว "เราพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลไร้คาร์บอนเพื่อตอบสนองความทะเยอทะยานระดับโลกของอุตสาหกรรมในการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความรับผิดชอบในภารกิจในการบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์"
แบตเตอรี่ตะกั่วยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาการไฟฟ้าทั่วโลก เอซจะยังคงสนับสนุนและหนุนนำอุตสาหกรรมตะกั่วต่อไปด้วยการนำโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปใช้ให้สำเร็จ และไม่เพียงแต่มอบโซลูชันที่ทำกำไรเท่านั้น แต่ยังมอบโซลูชันที่ยั่งยืนสำหรับผู้ผลิตตะกั่วระดับรองทั้งหมดอีกด้วย
เอซเป็นผู้นำตลาดในด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ตะกั่วและลิเธียมไอออน และกำลังร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อช่วยก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทมีทีมงานมากกว่า 70 คน และมีสำนักงานใหญ่สองแห่งในสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์
ข้อความคาดการณ์ล่วงหน้า
เอกสารนี้ประกอบด้วยข้อความคาดการณ์ล่วงหน้าบางประการเกี่ยวกับความสามารถทางเทคโนโลยีของ เอซและเป้าหมายทางธุรกิจในอนาคต ข้อความทั้งหมดอิงตามการคาดการณ์ของเอซในปัจจุบัน และเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางธุรกิจและทางเทคนิค รวมถึงความไม่แน่นอนที่อาจทำให้ผลลัพธ์ที่แท้จริงแตกต่างอย่างมากจากผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอธิบายไว้ โดยนัย หรือคาดการณ์ไว้ในข้อความคาดการณ์ล่วงหน้าใด ๆ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดด้านเทคโนโลยี ความไม่แน่นอนที่มีอยู่ในการพัฒนาเทคโนโลยี การปรับขนาดและการเปิดตัว การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และแหล่งที่มาและความพร้อมของการจัดหาเงินทุนของบุคคลที่สาม