ฮ่องกง, 23 เมษายน 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ — การแข่งขันนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ TERA-Award ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยทาวน์แก๊ส (Towngas) ได้ประกาศผลให้ทราบแล้วในฮ่องกง โดยรางวัลทองคำและเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นตกเป็นของโครงการอุปกรณ์ผลิตไฮโดรเจนอัลคาไลน์ขั้นสูงจากทีมวิจัยของจีน ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฮโดรเจนได้อย่างมาก ขณะที่รางวัลเงินตกเป็นของทีมอิสราเอล เจ้าของผลงานระบบกักเก็บไฮโดรเจนในสภาวะแวดล้อมโดยรอบ ส่วนอีกทีมจากจีนได้รับรางวัลทองแดงจากผลงานวัสดุกักเก็บพลังงานแบบร้อน/เย็นอเนกประสงค์
ผู้ชนะรางวัลทองคำซึ่งได้รับเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยนั้น ได้แก่ หัว เซีย ไฮโดรเจน เทคโนโลยี (Hua Xia Hydrogen Technology) จากจีน ซึ่งได้พัฒนาการออกแบบที่ผลิตไฮโดรเจนผ่านการทำอิเล็กโทรลิซิสของน้ำ (water electrolysis) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสตรงไม่ถึง 4.3 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อไฮโดรเจนหนึ่งลูกบาศก์เมตร เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนได้โดยตรง ลดต้นทุนอุปกรณ์ และยกระดับเสถียรภาพในการดำเนินงานในระยะยาว รองรับการใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม การขนส่ง พลังงาน และการก่อสร้าง มอบโซลูชันต้นทุนต่ำสำหรับใช้ผลิตไฮโดรเจน
ส่วนโครงการที่ได้รางวัลระดับเงินอย่าง "Reshaping H2 Storage and Transportation" (พลิกโฉมการจัดเก็บและขนส่ง H2) มาจากทีมวิจัยชาวอิสราเอล โดยใช้น้ำและไบคาร์บอเนตในการกักเก็บไฮโดรเจน ซึ่งมีข้อดีในเรื่องการปลอดสารพิษ ไม่ติดไฟ และไม่ระเบิด ทั้งยังขนส่งได้ที่อุณหภูมิและความดันใกล้เคียงกับอุณหภูมิโดยรอบ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจนให้เหลือไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
สำหรับรางวัลทองแดงให้การยกย่องโครงการที่ใช้เทคโนโลยีวัสดุเปลี่ยนสถานะ (PCM) สมรรถนะสูง เพื่อใช้แทนโซลูชันทำความเย็นหรือทำความร้อนแบบที่ใช้กันทั่วไป โดยวัสดุเปลี่ยนสถานะสามารถดูดซับและจัดเก็บพลังงานความร้อนหรือพลังงานเย็นได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -150 องศาเซลเซียส ถึง 1,000 องศาเซลเซียส ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งาน เช่น เครื่องปรับอากาศ ห้องเย็น และศูนย์ข้อมูล เทคโนโลยีนี้ควบคุมอุณหภูมิได้ปลอดภัยและเสถียรกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็รองรับช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (peak shifting) เพื่อส่งเสริมเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ และประหยัดพลังงานได้สูงสุดถึง 20%
ทั้งนี้ รางวัล TERA-Award ครั้งที่ 3 มีผู้ส่งโครงการคาร์บอนเป็นศูนย์เข้าประกวดมากถึง 450 โครงการจาก 59 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก เพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น ดร.ลี กากิต (Lee Ka-kit) ผู้ก่อตั้ง TERA-Award กล่าวว่า "TERA-Award ได้กลายเป็นเวทีรวมตัวให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานระดับโลก โดยให้บริการอย่างครบวงจรแก่นักวิทยาศาสตร์เพื่อนำผลการวิจัยออกสู่ตลาด ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในการประกาศว่าแบรนด์ TERA-Award จะยกระดับจากการแข่งขันไปเป็นแพลตฟอร์มบ่มเพาะเทคโนโลยีไร้คาร์บอน" โดยดร.ลีได้เชิญชวนผู้ประกอบการที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนเป็นศูนย์ทั่วโลกให้เข้าร่วมการแข่งขัน TERA-Award และร่วมใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสร้างอนาคตที่ยั่งยืน