เซินเจิ้น จีน, 18 เมษายน 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ — หัวเว่ย (Huawei) ได้จัดการประชุมสุดยอดนักวิเคราะห์ (Huawei Analyst Summit) ครั้งที่ 21 โดยภายในงานนี้ได้จัดฟอรัม "สร้างเครือข่ายเป้าหมายออปติคอลล้วน F5.5G พร้อมกรุยทางสู่ยุคอัจฉริยะด้วยอัลตราบรอดแบนด์ระดับ 10 Gbps" (Building F5.5G All-Optical Target Network, and Ushering in 10 Gbps UBB Intelligent Era) ขึ้นมา ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมได้ร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางในการใช้เทคโนโลยีออปติคอล F5.5G เพื่อมอบความชาญฉลาดให้กับบ้านและภาคอุตสาหกรรม ในฟอรัมนี้ คุณบ็อบ เฉิน (Bob Chen) ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ธุรกิจออปติคอลของหัวเว่ย กล่าวว่า "เพื่อก้าวสู่ยุคอัจฉริยะในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจำเป็นต้องพัฒนาเครือข่ายประมวลผลขนส่งข้อมูลคุณภาพสูง ซึ่งก็คือเครือข่ายประมวลผลแบบออปติคอลล้วนระดับพรีเมียม F5.5G เพื่อให้แน่ใจว่าขุมพลังการประมวลผลจะมีอยู่ตลอดเวลา โดยมีความพร้อมใช้งาน 99.9999% และเข้าถึงได้ทันทีด้วยเวลาแฝงเพียง 1 ms ซึ่งการเข้าถึงที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในระดับ 10 Gbps นั้น ทำให้พลังการประมวลผลเป็นที่เข้าถึงได้ทุกที่ พร้อมมอบความชาญฉลาดที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพื่อให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ พัฒนาก้าวหน้าได้อย่างชาญฉลาด"
เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น โมเดลพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำมาใช้อย่างรวดเร็ว โดยในยุคอัจฉริยะนั้น ศูนย์ข้อมูลประมวลผลอัจฉริยะก็กำลังเข้ามาเร่งพัฒนาสถาปัตยกรรมแบบกระจายหลายชั้น จากเดิมที่อยู่ในลักษณะรวมศูนย์ ก่อให้เกิดความท้าทายและข้อกำหนดใหม่ ๆ บนเครือข่าย
เครือข่ายประมวลผลออปติคอลล้วนระดับพรีเมียม F5.5G จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการรองรับขุมพลังการประมวลผล และประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้
ประการแรก เครือข่ายประมวลผลแกนหลักแบบ 3D-mesh มาพร้อมสถาปัตยกรรมแบบ 3D-mesh ให้แบนด์วิดท์สูงเป็นพิเศษ 400G/800G และพร้อมใช้งานในระดับ 99.9999% เครือข่ายนี้จึงเชื่อมต่อได้อย่างไม่ปิดกั้นและทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีการสูญเสียระหว่างศูนย์ข้อมูลประมวลผลอัจฉริยะ โดยเชื่อมต่อทรัพยากรประมวลผลของผู้ปฏิบัติงาน อุตสาหกรรม ศูนย์ข้อมูล และอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่สอง เครือข่ายประมวลผลเมโทรแบบวันฮอป เครือข่ายแกนหลักระดับเมโทรแบบ full-mesh ช่วยลดเส้นทางระหว่างศูนย์ข้อมูลประมวลผลอัจฉริยะให้เหลือสั้นที่สุด เพื่อลดเวลาแฝงในการเชื่อมต่อโครงข่ายเหลือ 1 มิลลิวินาที นอกจากนี้ เทคโนโลยี OTN to edge ยังรองรับการสลับแบบออปติคอลล้วน การส่งผ่านบริการแบบวันฮอป และการเข้าถึงการประมวลผลเมื่อใช้เครือข่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล บ้าน และองค์กร ในการเข้าถึงการประมวลผลภายใน 1 มิลลิวินาที
ประการที่สาม เครือข่ายการเข้าถึงอัจฉริยะในระดับ 10 Gbps โดยเครือข่าย 50G PON to home และ 10G FTTR to room กำลังเข้ามาสร้างช่องทางระดับอัลตราบรอดแบนด์ 10 Gbps นอกจากนี้ การระบุบริการเข้าถึงอย่างชาญฉลาด การจัดสรรคลื่นแบบ Hard Slicing และการเชื่อมต่อโครงข่ายกับฮาร์ดไปป์ OTN ระดับต้นน้ำ ก็พร้อมให้ประสบการณ์เฉพาะจุดรองรับบริการที่ต้องใช้พลังประมวลผลสูง เช่น คลาวด์พีซีและการเรนเดอร์บนคลาวด์
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มจัดการและควบคุมอัจฉริยะยังถูกสร้างขึ้น เพื่อให้ปฏิบัติการและบำรุงรักษาเครือข่ายที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเข้าถึงพลังการประมวลผลอย่างรวดเร็ว และทำให้แน่ใจว่าพลังการประมวลผลจะมีให้ใช้ได้ตลอดเวลา
ภายในงานยังได้เชิญบรรดาตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทั่วทั้งอุตสาหกรรมด้วย โดยคุณมาร์ติน ครีเนอร์ (Martin Creaner) ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมบรอดแบนด์โลก (WBBA) คาดการณ์ว่า "การสมัครใช้บริการบรอดแบนด์กิกะบิตทั่วโลกจะสูงถึง 44%+ ภายในปี 2571 โดยภาคอุตสาหกรรมจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ในภูมิภาคต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็แก้ไขปัญหาคอขวดของ OTN เพื่อยกระดับประสบการณ์ในการใช้งานระดับกิกะบิต ซึ่งการมาถึงของยุคเอไอทำให้อุตสาหกรรมควรเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับสังคม 10 กิกะบิตด้วย"
คุณเกา หงฟู่ (Gao Hongfu) รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายออปติคอล (ONA) เสนอว่า "เมื่อเปิดตัวมาตรฐาน F5.5G แล้ว Wi-Fi 7 จะถูกนำไปใช้ในการสร้างแคมปัสในอนาคตเพื่อเร่งการอัปเกรดสู่ 10 Gbps โดยกลยุทธ์แบบ Fiber-in และ Copper-out ได้กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับเครือข่ายแคมปัสไปแล้ว"
สุดท้ายนี้ ผู้เข้าร่วมฟอรัมทุกท่านต่างสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมผนึกกำลังกันอย่างใกล้ชิด ในแง่ของการใช้งานเฉพาะสถานการณ์และการยกระดับประสบการณ์ เพื่อเปิดรับโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมออปติคอล F5.5G พร้อมกรุยทางสู่ยุคอัจฉริยะด้วยอัลตราบรอดแบนด์ระดับ 10 Gbps ในคราวเดียวกัน