- รายงาน Green Power Gap ประเมินกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่จำเป็นต้องผลิตได้ภายในปี 2593 เพื่อให้ประเทศเหล่านี้บรรลุเป้าหมายระดับโลกในการพัฒนาและการรับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
- ระบุ 4 แนวทางใหม่ จากการขาดแคลนพลังงานเพื่อลดช่องว่างให้ประชากร 3.8 พันล้านคนในแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง
กรุงเทพมหานคร, 7 ส.ค. 2567 /PRNewswire/ — มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockerfeller Foundation) เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ซึ่งประมาณการ "ช่องว่างพลังงานสีเขียว" หรือ "Green Power Gap" ปริมาณ 8,700 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ใน 72 ประเทศในแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกาและแคริบเบียน และตะวันออกกลาง ปัจจุบันประเทศเหล่านี้มีประชากร 3.8 พันล้านคน โดยจะจำเป็นต้องใช้พลังงานสะอาด 8,700 เทราวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2593 ซึ่งมากกว่าการผลิตไฟฟ้าต่อปีของสหรัฐอเมริกาประมาณสองเท่า เพื่อก้าวกระโดดจากระบบพลังงานแบบดั้งเดิมที่มีราคาแพงและไม่มีประสิทธิภาพไปสู่อนาคตที่มีพลังงานอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ รายงานช่องว่างพลังงานสีเขียว: การบรรลุอนาคตที่ทุกคนมีพลังงานใช้ ยังระบุถึงโอกาสสีเขียวและกำหนดสี่แนวทางใหม่ในการปิดช่องว่างดังกล่าวอีกด้วย
"ชะตากรรมของผู้คน 3,800 ล้านคนและโลกทั้งใบจะขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถปิดช่องว่างพลังงานสีเขียวได้หรือไม่" ดร. Rajiv J. Shah ประธานมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ กล่าว "ประวัติศาสตร์ทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าผู้คนและประเทศต่าง ๆ จะแสวงหาโอกาสโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสภาพอากาศ วิธีเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายการรับมือสภาพอากาศของโลกได้คือการขยายขอบเขตการแก้ปัญหาและระดมเงินทุนที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้คน 3,800 ล้านคนจะมีไฟฟ้าสะอาดใช้อย่างเพียงพอที่จะยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของตนได้"
72 ประเทศที่มีการวิเคราะห์ในรายงานประกอบด้วย 68 ประเทศที่มีการใช้พลังงานน้อยกว่าพลังงานขั้นต่ำสำหรับยุคใหม่ (Modern Energy Minimum หรือ MEM) ซึ่งหมายถึงมีการใช้พลังงานเฉลี่ยต่อหัวต่อปีน้อยกว่า 1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ซึ่งจำเป็นต่อการช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน สร้างงาน และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รายงานยังรวมอีก 4 ประเทศ* ที่ใช้พลังงานเกินเกณฑ์ MEM แต่จัดอยู่ในกลุ่ม "ขาดแคลนพลังงาน" เนื่องจากประชากรจำนวนมากยังคงใช้พลังงานต่ำกว่าเกณฑ์ MEM อย่างมาก
มีเพียงแปดจากทั้งหมด 72 ประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียน (โบลิเวีย เอลซัลวาดอร์* กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส และนิการากัว) และตะวันออกกลาง (ซีเรียและเยเมน) โดยมี 44 ประเทศในแอฟริกา และ 20 ประเทศในเอเชีย
เอเชีย:
1) อัฟกานิสถาน 2) บังกลาเทศ 3) กัมพูชา 4) อินเดีย* 5) อินโดนีเซีย* | 6) คิริบาส 7) ไมโครนีเซีย 8) เมียนมา 9) เนปาล 10) เกาหลีเหนือ | 11) ปากีสถาน 12) ปาปัวนิวกินี 13) ฟิลิปปินส์ 14) ซามัว 15) หมู่เกาะโซโลมอน | 16) ศรีลังกา 17) ติมอร์ตะวันออก 18) ตองกา 19) ตูวาลู 20) วานูวาตู |
Deepali Khanna รองประธานและหัวหน้าสำนักงานภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กล่าวว่า "แม้ว่าจะไม่มีเฉลยคำตอบที่จะนำพาทุกคนไปสู่อนาคตที่มีพลังงานสะอาดใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เราเชื่อว่ามี ‘โอกาสสีเขียว’ อยู่ โดยอาศัยสินทรัพย์ระบบพลังงานที่มีอยู่และแหล่งพลังงานหมุนเวียนในเอเชีย ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอินเดียและอินโดนีเซียกำลังปูทางด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน"
ประเมินช่องว่างพลังงานสีเขียว
ในรายงานครั้งนี้ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จัดประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 193 ประเทศออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) "ประเทศเศรษฐกิจขั้นสูง" ได้แก่ 55 ประเทศที่ธนาคารโลกกำหนดให้เป็นประเทศรายได้สูง (2) "ประเทศขาดแคลนพลังงาน" หมายถึง 68 ประเทศที่ขาดแคลนพลังงานบวกกับอีก 4 ประเทศ* ที่ระบุไว้ข้างต้น และ (3) "ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่" หมายถึง 66 ประเทศที่อยู่ระหว่าง 2 ประเภทข้างต้น (กลุ่มนี้ยังพบว่ามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปีในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ "ขาดแคลนพลังงาน" ที่เพิ่มขึ้นเพียง 500 กิโลวัตต์ชั่วโมง)
ช่องว่างพลังงานสีเขียวคำนวณโดยพิจารณาว่าโลกสามารถปล่อยคาร์บอนได้มากเพียงใด โดยที่ยังคงรักษาอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 1.75°C ได้และคำนึงถึงการเติบโตของประชากรและเป้าหมายการพัฒนา นอกจากนี้ ยังถือว่าประเทศ "เศรษฐกิจขั้นสูง" 55 ประเทศและประเทศ "เศรษฐกิจเกิดใหม่" 66 ประเทศจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2593 และ 2603 ตามลำดับ
จากการคำนวณดังกล่าว งบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่ 207 กิกะตัน (GT) ในสถานการณ์นี้ทำให้มีโอกาสเพียงพอสำหรับประเทศ "ขาดแคลนพลังงาน" 72 ประเทศในการเติบโต หากเน้นเฉพาะภาคพลังงาน การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถเติบโตได้ในระดับปานกลางในระยะใกล้ แต่ในระยะยาว พลังงานสีเขียวจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2573 ประมาณสองในสามของการผลิตทั้งหมดอาจยังคงมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศขาดแคลนพลังงาน แต่ภายในปี 2583 อัตราส่วนดังกล่าวจะต้องลดลงเหลือ 30% และต้องบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2613
สี่แนวทางปิดช่องว่าง
การที่จะมีพลังงานให้ใช้เหลือเฟือให้ได้นั้นต้องอาศัยการผสมผสานเทคโนโลยี แต่การผสมผสานนั้นจะแตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับทรัพยากรและความต้องการของแต่ละประเทศ สินทรัพย์ระบบพลังงานที่มีอยู่และความพร้อมใช้งานของสินทรัพย์พลังงานหมุนเวียนในแต่ละประเทศจะกำหนดว่าโอกาสในการก้าวกระโดดสีเขียวประเภทใดที่เป็นไปได้มากที่สุด จากข้อมูลนี้ รายงานฉบับนี้ได้ระบุสี่แนวทางสู่ความอุดมสมบูรณ์ของพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่:
- การสร้างโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป: แนวทางนี้เหมาะที่จะใช้ในประเทศอย่างอินเดียที่ได้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าและสินทรัพย์การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบรวมศูนย์จำนวนมาก
- การพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนแบบโครงข่ายไฟฟ้าผสม: แนวทางนี้เหมาะกับประเทศเช่นไนจีเรียที่มีโครงข่ายไฟฟ้าและความสามารถในการผลิตจำกัด แต่มีความหนาแน่นของประชากรสูง
- การจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจาย: แนวทางนี้เหมาะสำหรับประเทศต่าง ๆ เช่น บูร์กินาฟาโซ ซึ่งมีแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นยอด แต่การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าและการเข้าถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ยังมีจำกัด
- การผสมผสานพลังงานหมุนเวียนแบบกระจาย: แนวทางนี้เหมาะสำหรับประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่มีโครงข่ายไฟฟ้าและสินทรัพย์ด้านการผลิตไฟฟ้าจำกัด แต่มีทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนคุณภาพสูงที่หลากหลาย
"การปิดช่องว่างพลังงานสีเขียวเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศ" ดร. Joseph Curtin กรรมการผู้จัดการทีมพลังงานและสภาพอากาศของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และผู้เขียนร่วมกล่าว "นอกจากนี้ ทั้ง 72 ประเทศนี้มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในปริมาณมากอยู่แล้ว ดังนั้น แทนที่จะเดินตามแนวทางที่ประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงหลายแห่งเคยใช้ ประเทศเหล่านี้ก็มีโอกาสในการก้าวกระโดดไปสู่ระบบพลังงานที่สะอาดกว่า คล่องตัวกว่า และยืดหยุ่นกว่า"
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ตั้งเป้าที่จะสำรวจแนวทางที่ต่างกันเหล่านี้ในรายละเอียดมากขึ้นในการวิเคราะห์ในอนาคต
เกี่ยวกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เป็นองค์กรการกุศลที่ริเริ่มขึ้นจากความร่วมมือแถวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งช่วยให้บุคคล ครอบครัว และชุมชนต่าง ๆ สามารถเติบโตได้ เราทุ่มเงินมหาศาลเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ ปัจจุบัน เราเน้นการส่งเสริมโอกาสของมนุษย์และแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร สุขภาพ พลังงาน และการเงิน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สมัครรับจดหมายข่าวของเราได้ที่ www.rockefellerfoundation.org/subscribe และติดตามเราบน X @RockefellerFdn และ LI @the-rockefeller-foundation
นอกจากศูนย์การประชุมในเมืองเบลลาจิโอ ประเทศอิตาลีแล้ว มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ยังมีสำนักงานในสหรัฐอเมริกาในนครนิวยอร์กและวอชิงตัน ดี.ซี. และมีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย สำหรับการทำงานในเอเชีย และมีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคอีกแห่งที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา สำหรับการทำงานในทวีปแอฟริกา