- นับตั้งแต่ปี 2564 แพลตฟอร์ม APPIS ได้รวบรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 2,000 คน จาก 65 ประเทศ ในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพ
- ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกว่า 40 คนจะเข้าร่วมการเสวนาหัวข้อสำคัญต่างๆ อาทิ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การกำหนดนโยบาย
ด้านสุขภาพ และความพร้อมในอนาคต ในการประชุม APPIS Summit 2024 - โครงการ APPIS Innovator Program และโครงการ APPISx ถือเป็นหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์ม APPIS โดยโครงการดังกล่าวทำหน้าที่เชื่อมโยงบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบบริการสุขภาพเข้าด้วยกันตลอดทั้งปี เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ผู้ป่วย
สิงคโปร์ 11 มีนาคม 2567 พีอาร์นิวส์ไวร์ — การประชุม Alliance & Partnerships for Patient Innovation & Solutions (APPIS) ประจำปีครั้งที่ 4 ซึ่งร่วมกับคณะที่ปรึกษาของแพลตฟอร์ม APPIS และได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท โนวาร์ตีส (Novartis) นั้นจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 19 มีนาคม และวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 14.00 – 17.00 น. โดยการประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรความร่วมมือ เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ป่วยทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
การประชุม APPIS Summit 2024
การประชุม APPIS Summit ในปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมบรรยายมากกว่า 40 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้สื่อข่าวสายสุขภาพ โดยช่วงการบรรยายที่น่าสนใจนั้นประกอบด้วยการเสวนาในหัวข้อ การปลดล็อกความรู้เชิงลึก: นวัตกรรมในการใช้ข้อมูลในสถานการณ์จริง (Unlocking Insights: Innovations in Real World Data Utilization) ดำเนินรายการโดย จูลี ซีนี Global Legacy Lead แห่ง Advocacy Beyond Borders และ บทเรียนและความสำเร็จของการสานพลังของผู้ป่วยด้วยตนเอง (Lessons & Success in Patient Self-Advocacy) นำโดย เมเรดิธ คัมมินส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งศูนย์มะเร็งนิวโรเอ็นโดไครน์ (NeuroEndocrine Cancer) จากออสเตรเลีย วาระการประชุมประกอบไปด้วยเวทีเสวนา การอภิปรายในบรรยากาศเป็นกันเอง และการบรรยายเพื่อนำเสนอข้อมูล โดยมุ่งเน้นไปที่หัวข้อหลักสามข้อ ได้แก่ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ และความพร้อมในอนาคต
"ความท้าทายด้านบริการสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกานั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน โดยผู้ป่วยมักเผชิญอุปสรรคความท้าทายรอบด้าน นับตั้งแต่การได้รับข้อมูลด้านสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง ไปจนถึงนโยบายด้านสุขภาพที่ซับซ้อนและล้าสมัย อันนำไปสู่ประสบการณ์ที่แย่ลงในด้านบริการสุขภาพ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม APPIS ได้ทำหน้าที่ผนึกกำลังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบนิเวศด้านบริการสุขภาพ เพื่อร่วมกันจัดการกับอุปสรรคที่ท้าทายที่สุดสำหรับผู้ป่วยในภูมิภาคของเรา ซึ่งที่ผ่านมา เราค่อยๆ เห็นแล้วว่าผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่นั้นได้รับประโยชน์จากความร่วมมือครั้งนี้จริงๆ" ร็อด ปาดัว ประธานบริษัท Touched By Max. Inc ของฟิลิปปินส์ และที่ปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์ของแพลตฟอร์ม APPIS กล่าว
นับตั้งแต่ปี 2564 แพลตฟอร์ม APPIS ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้การสนับสนุน บุคลากรทางการแพทย์ และนักวิชาการ จำนวนกว่า 2,000 คน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ และผลักดันความร่วมมือเพื่อสร้างนวัตกรรมและแนวทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์สำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของแพลตฟอร์ม APPIS คือการให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และผลักดันให้เกิดการดำเนินงานเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ผ่านการดำเนินโครงการริเริ่มต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นตลอดทั้งปี การประชุม APPIS Summit แบบเสมือนระดับภูมิภาคในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดไปสู่โครงการย่อยอื่นๆ ภายใต้แพลตฟอร์ม APPIS อาทิ โครงการ APPIS Innovator Program, โครงการ APPISx และศูนย์ข้อมูลออนไลน์ของ APPIS
โครงการ APPIS Innovator Program
โครงการ APPIS Innovator Program ได้รับการเปิดตัวขึ้นในปี 2565 เพื่อให้การสนับสนุนเครือข่ายของผู้ป่วยในการยกระดับศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมและแนวทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์สำหรับผู้ป่วย โดยในแต่ละปี คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากเครือข่ายผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ จะประเมินผลงานที่ได้รับการส่งเข้าแข่งขัน โดยใช้เกณฑ์พิจารณา ได้แก่ แนวโน้มในการสร้างผลกระทบเชิงบวก ความสร้างสรรค์ของนวัตกรรม ศักยภาพในการขยายผล ความสอดคล้องกับหมวดหมู่ และโอกาสในการพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต ผู้ชนะโครงการ APPIS Innovator Program จะได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท โนวาร์ตีส เป็นระยะเวลาหนึ่งปี โดยบริษัทจะจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญดูแลให้คำแนะนำในแต่ละหัวข้อ อีกทั้งจะได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์ม APPIS และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อนำแนวทางแก้ปัญหาสำหรับผู้ป่วยดังกล่าวไปต่อยอดและขยายผล โดยในปีนี้ โครงการ APPIS Innovator Program จะเปิดให้ส่งผลงานเข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 5 เมษายน และจะประกาศรายชื่อผู้ชนะในเดือนมิถุนายน 2567
โครงการ APPISx
โครงการ APPISx ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับประเทศ ผ่านการผนึกกำลังตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านบริการทางสุขภาพ เพื่อเร่งให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาสำหรับผู้ป่วยที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยผลงานความสำเร็จที่ผ่านมาของโครงการ APPISx นั้นประกอบด้วย การจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสุขภาพหัวใจของอินเดีย (Heart Health India Foundation) และสมาคมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจแห่งแรกของประเทศ โดยโครงการ APPISx ของอินเดีย การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยโครงการ APPISx ของฟิลิปปินส์ เพื่อสนับสนุนการยื่นร่างกฎหมายการดูแลโรคสะเก็ดเงินแห่งชาติ (National Psoriasis Care Bill) ต่อรัฐสภา และการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของผู้ป่วยในการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Re-assessment หรือ HTR) โดยโครงการ APPISx ของไต้หวัน
ในปี 2567 โครงการ APPISx จะมีการจัดประชุมจำนวนทั้งสิ้น 16 รอบ ทั่วทั้งภูมิภาค ในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ตุรกี ไต้หวัน อียิปต์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไทย แอฟริกาใต้ รวมทั้งประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางและภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา โดยถือเป็นการต่อยอดจากการประชุมจำนวน 11 รอบ ซึ่งโครงการ APPISx จัดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
"ระบบนิเวศด้านบริการสุขภาพถือเป็นเครือข่ายที่มีความซับซ้อน และประกอบด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มารวมตัวกันเพื่อให้บริการสุขภาพแก่ผู้ป่วย อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพต่างๆ นับตั้งแต่โรคหัวใจและมะเร็ง ไปจนถึงปัญหาทางสุขภาพที่พบได้ยาก เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง นั้นยังคงต้องเผชิญอุปสรรคในชีวิตประจำวันในด้านการเข้าถึงข้อมูลและการรักษาที่จำเป็น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายลง ในการจะแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพ ดิฉันจึงรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแพลตฟอร์ม APPIS ได้ผนึกกำลังกันเพื่อร่วมผลักดันให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และยกระดับความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องได้รับการจัดการ เป็นสาเหตุที่ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นและตั้งตารอการประชุม APPIS Summit ในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เราได้ร่วมกันค้นหาแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ผู้ป่วยต่อไป" รูธ คูกูรู กรรมการบริหารฝ่ายการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ของบริษัท โนวาร์ตีส เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กล่าว
การประชุม APPIS Summit 2024 จะจัดขึ้นในวันที่ 19 และ 20 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 14.00 – 17.00 ของแต่ละวัน โดยจะมีการถ่ายทอดสดการประชุมครั้งนี้เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมบริการแปลสดเป็นภาษาอาหรับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ตุรกี และเวียดนาม
ลงทะเบียนได้ที่: https://www.appisinitiative.com/appis-summit-2024
เกี่ยวกับแพลตฟอร์ม APPIS
แพลตฟอร์ม Alliance and Partnerships for Patient Innovation and Solutions (APPIS) มีจุดมุ่งหมายในการขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นแก่ผู้รับบริการสุขภาพทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ผ่านการรวบรวมตัวแทนจากเครือข่ายผู้ป่วย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักในระบบนิเวศบริการสุขภาพ เช่น ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้การสนับสนุน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สื่อข่าวสุขภาพ และผู้มีบทบาทด้านเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อร่วมระบุประเด็นท้าทายสำคัญ และมุ่งเน้นการนำแนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ได้จริงไปสู่การปฏิบัติ เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งนี้ การประชุม APPIS Summit ซึ่งจัดขึ้นในระดับภูมิภาคทุกๆ ปี, โครงการ APPIS Innovator Program, ศูนย์ข้อมูลออนไลน์ APPIS และโครงการ APPISx ซึ่งเป็นโครงการระดับประเทศที่มุ่งจัดการกับประเด็นด้านสุขภาพที่มีความสำคัญในแต่ละท้องถิ่น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม APPIS ซึ่งได้รับการบริหารจัดการและสนับสนุนโดย บริษัท โนวาร์ตีส
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ appisinitiative.com
เกี่ยวกับบริษัท โนวาร์ตีส (Novartis)
บริษัท โนวาร์ตีส (Novartis) เป็นบริษัทยานวัตกรรม เราเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมใหม่ด้านยารักษาโรค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและช่วยให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น พร้อมทั้งให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ป่วย บุคลากรด้านบริการสุขภาพ และสังคม เมื่อต้องเผชิญกับโรคร้ายแรง โดยยาของเราสามารถเข้าถึงผู้คนทั่วโลกกว่า 250 ล้านคน
ร่วมเปิดโลกนวัตกรรมด้านยารักษาโรคใหม่ๆ ไปกับโนวาร์ตีส เยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ https://www.novartis.com
สื่อมวลชนกรุณาติดต่อ:
บอนนี เจิง (Bonnie Zeng) | แองเจลีน โฮ (Angeline Ho) |