หนานหนิง, จีน, 9 ธ.ค. 2567 /PRNewswire/ — รายงานจาก china-asean-media.com: เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้จัดการประชุมเสวนาด้านการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับอาเซียน โดยเป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน และกรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง งานนี้มีผู้เข้าร่วม 150 ท่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักธุรกิจ และตัวแทนสื่อมวลชนจากจีน ประเทศสมาชิกอาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศ
Hu Fan รองผู้ว่าการเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวในสุนทรพจน์ว่า ภูมิภาคนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปยังประเทศอาเซียน และเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวอาเซียนที่ต้องการสัมผัสวัฒนธรรมจีน โดยได้เสนอแนวทาง 3 ประการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับอาเซียนในอนาคต ได้แก่ การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และส่งเสริมความร่วมมือด้านการตลาดในภาคการท่องเที่ยว
Zhang Jianping รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน ได้เน้นย้ำถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่จีนและประเทศแถบอาเซียนมีร่วมกัน ตั้งแต่เส้นทางสายไหมโบราณไปจนถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สมัยใหม่ และยืนยันถึงความมุ่งมั่นของจีนในการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับอาเซียนโดยเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
Vansy KOUAMOUA รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวลาว ได้กล่าวถึงความสำเร็จของลาวในการยกระดับศิลปะและวัฒนธรรม ในฐานะประธานอาเซียนปี 2567 โดยระบุว่ามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเยือนลาวกว่า 600,000 คนในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2567 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียน
Dato’s Shaharuddin bin Abu Sohot รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรมของมาเลเซีย ได้แสดงความมุ่งมั่นของมาเลเซียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนกับจีนและอาเซียน
Natalia Bayona ผู้อำนวยการบริหารองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวผ่านวิดีโอโดยเรียกร้องให้มีการปรับปรุงการสื่อสารและการประสานงานในการกำหนดนโยบาย วิเคราะห์ตลาด และสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งเน้นย้ำบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
การประชุมเสวนาครั้งนี้ยังมีการอภิปรายเกี่ยวกับการเพิ่มพูนประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมโดยอาศัยนวัตกรรม และการบูรณาการวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว "โครงการริเริ่มจีน-อาเซียน เพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว" ซึ่งประกอบด้วยแนวทางการดำเนินการ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ การยกระดับการแบ่งปันข้อมูล การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การสร้างแบรนด์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การประชุมเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 แล้ว โดยยังคงเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระดับสูงระหว่างจีนกับอาเซียน