ลอนดอน, 11 มิถุนายน 2567 /PRNewswire/ — วันนี้เป็นวันเปิดเผยรายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) หรือ GPI ฉบับที่ 18 จากสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace) หรือ IEP ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองระดับโลก โดยเผยให้เห็นว่าโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่เพิ่มสูงขึ้นหากไม่ร่วมมือดำเนินการแก้ไข
ผลการค้นพบที่สำคัญ
- มี 97 ประเทศที่มีความสงบสุขลดลงมากกว่าทุกปีนับตั้งแต่เริ่มเผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลกในปี 2551
- ความขัดแย้งในกาซ่าและยูเครนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความสงบสุขลดลงทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากการสู้รบถึง 162,000 คนในปี 2566
- ในปัจจุบัน มี 92 ประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนอกพรมแดนของตน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นเผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลก
- ระบบการให้คะแนนทางการทหารครั้งแรกของโลก ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพทางการทหารของสหรัฐฯ สูงกว่าจีนถึงสามเท่า
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 19.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566 คิดเป็น 13.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลก ความเสี่ยงที่เกิดจากความขัดแย้งเป็นภัยสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของรัฐบาลและธุรกิจต่าง ๆ
- ปัจจัยชี้วัดด้านการขยายอิทธิพลทางทหารแสดงให้เห็นการเสื่อมถอยมากที่สุดในรอบปี นับตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีสันติภาพโลก โดยมี 108 ประเทศที่ขยายอิทธิพลทางการทหารที่เพิ่มขึ้น
- ประชาชน 110 ล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเนื่องจากความขัดแย้งรุนแรง ในปัจจุบัน มี 16 ประเทศรับผู้ลี้ภัยมากกว่าครึ่งล้านคน
- อเมริกาเหนือเกิดการเสื่อมถอยในระดับภูมิภาคมากที่สุด เนื่องจากเกิดอาชญากรรมรุนแรงและความกลัวต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันมีความขัดแย้งเกิดขึ้น 56 รายการ ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีลักษณะเป็นความขัดแย้งระดับสากลมากขึ้น โดยมี 92 ประเทศมีส่วนร่วมในความขัดแย้งนอกพรมแดนของตน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นเผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลก ความขัดแย้งเล็กน้อยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจะเพิ่มโอกาสให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น ในปี 2562 ความขัดแย้งในเอธิโอเปีย ยูเครน และกาซ่า ล้วนแต่ถูกระบุว่าเป็นความขัดแย้งที่เล็กน้อยมาก่อน
ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้ง 162,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดอันดับสองในรอบ 30 ปี โดยผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในยูเครนและกาซ่าคิดเป็นเกือบสามในสี่ของจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในยูเครนคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่ง โดยมีจำนวนที่บันทึกได้ถึง 83,000 คน และประมาณการได้ว่ามีผู้เสียชีวิตในปาเลสไตน์อย่างน้อย 33,000 คนจนถึงเดือนเมษายน 2567 ในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2567 มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งทั่วโลก 47,000 คน หากอัตราดังกล่าวยังดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดปี จะถือเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 2537
ผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากความรุนแรงในปี 2566 เท่ากับ 19.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 2,380 ดอลลาร์ต่อคน โดยเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 1.58 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียจีดีพีจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้น 20% ส่วนค่าใช้จ่ายในการสร้างและรักษาสันติภาพรวม 4.96 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นมูลค่าไม่ถึง 0.6% ของค่าใช้จ่ายทางทหารทั้งหมด
ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2551 รองลงมาคือ ไอร์แลนด์ ออสเตรีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศใหม่ที่ติดห้าอันดับแรก ประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลกคือเยเมนที่มาแทนที่อัฟกานิสถาน ตามด้วยซูดาน ซูดานใต้ อัฟกานิสถาน และยูเครน
ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขน้อยที่สุด โดยเป็นที่ตั้งของสี่ในสิบประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุด รวมทั้งสองประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก คือซูดานและเยเมน อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีความสงบสุขปรับปรุงดีขึ้นสูงสุดในภูมิภาคนี้ โดยเพิ่มขึ้น 31 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 53 ในปี 2567
แม้ว่าปัจจัยชี้วัดความสงบสุขส่วนใหญ่จะเสื่อมถอยลงในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นด้านอัตราการเกิดฆาตกรรมที่ลดลงใน 112 ประเทศ ขณะที่การรับรู้เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมก็ปรับปรุงดีขึ้นใน 96 ประเทศ
Steve Killelea ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ IEP กล่าวว่า "ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสงบสุขลดลงเก้าปีจากสิบปี เราพบว่าเกิดความขัดแย้งในจำนวนทำลายสถิติ การขยายอิทธิพลทางทหารที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ความขัดแย้งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงทางธุรกิจจากความขัดแย้งก็เพิ่มสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ความเปราะบางทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยิ่งแย่ลง
"รัฐบาลและธุรกิจทั่วโลกจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามแก้ไขความขัดแย้งเล็กน้อยที่มีอยู่มากมายก่อนที่จะบานปลายกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ เป็นเวลา 80 ปีมาแล้วนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และวิกฤตในปัจจุบันยิ่งเน้นย้ำความเร่งด่วนที่ผู้นำโลกต้องมุ่งมั่นกับการลงทุนเพื่อแก้ไขความขัดแย้งเหล่านี้"
ลักษณะของความขัดแย้งที่เปลี่ยนไป
เมื่อความขัดแย้งลุกลามมากขึ้นและขยายเป็นความขัดแย้งระดับโลก ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้โอกาสที่จะหาทางแก้ไขอย่างยั่งยืนลดน้อยลง ยูเครนและกาซ่าเป็นตัวอย่างของข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ หรือ ‘สงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุด’ โดยไม่มีหนทางแก้ไขที่ชัดเจน จำนวนความขัดแย้งที่มีผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดลดลงจาก 49% ในทศวรรษที่ 1970 เหลือน้อยกว่า 9% ในทศวรรษที่ 2010 ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนความขัดแย้งที่จบลงด้วยข้อตกลงสันติภาพก็ลดลงจาก 23% เหลือเพียงกว่า 4% เล็กน้อย
ปัจจัยสำคัญอีกประการที่เปลี่ยนรูปแบบความขัดแย้ง คือ ผลกระทบจากเทคโนโลยีการทำสงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) ซึ่งทำให้กลุ่มที่ไม่ใช่รัฐรวมถึงรัฐเล็ก ๆ หรือมีอำนาจน้อยสามารถต่อสู้สร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลหรือรัฐที่ใหญ่กว่าได้ง่ายขึ้น จำนวนของรัฐที่ใช้โดรนเพิ่มขึ้นจาก 16 เป็น 40 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 150% ระหว่างปี 2561 ถึง 2566 โดยในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนของกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐที่ทำการโจมตีด้วยโดรนอย่างน้อยหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 91 กลุ่ม ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 1,400%
ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
ด้วยเหตุจากสงครามกาซ่า การจัดอันดับของอิสราเอลลดลงต่ำสุดเป็นอันดับที่ 155 โดยมีความสงบสุขลดลงมากที่สุดในดัชนีสันติภาพโลกปี 2567 อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปาเลสไตน์มีความสงบสุขลดลงมากที่สุด โดยลดลงเป็นอันดับที่ 145 เมื่อเน้นพิจารณาที่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ข่าวในสื่อของอิสราเอลที่มีเนื้อหาเชิงลบต่อชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้น จากกว่า 30% เล็กน้อยในปี 2542 เป็น 92% เมื่อต้นปี 2566 ในขณะที่ข่าวในสื่อปาเลสไตน์ที่มีเนื้อหาเชิงลบต่อชาวอิสราเอลเพิ่มขึ้นจากเกือบ 30% ในปี 2542 เป็น 85% เมื่อต้นปี 2566
ความขัดแย้งดังกล่าวยังทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมดเข้าสู่วิกฤต โดยเกี่ยวข้องกับซีเรีย อิหร่าน เลบานอน และเยเมน และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสงครามเต็มรูปแบบ ความขัดแย้งที่ขยายลุกลามจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้ เมื่อเน้นพิจารณาถึงประเด็นนี้ เศรษฐกิจของซีเรียหดตัวมากกว่า 85% หลังจากเริ่มเกิดสงครามกลางเมืองในปี 2554 และเศรษฐกิจยูเครนหดตัว 29% ในปีหลังจากเริ่มเกิดความขัดแย้งในปี 2565
ศักยภาพทางการทหารทั่วโลก
ตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามยูเครน การขยายอิทธิพลทางทหารเพิ่มขึ้นใน 91 ประเทศ ซึ่งกลับกันจากแนวโน้มในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากการให้คำมั่นล่วงหน้าด้านการใช้จ่ายทางการทหารของหลายประเทศ มีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะไม่เป็นไปในทางดีขึ้นในปีต่อ ๆ ไป
การเปลี่ยนแปลงด้านพลวัตของการทำสงครามทำให้จำนวนทหารลดลง ขณะที่ความซับซ้อนทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ในทศวรรษที่ผ่านมา มี 100 ประเทศลดจำนวนทหารของกองทัพติดอาวุธลง ส่วนศักยภาพทางการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 10%
การวิจัยครั้งแรกที่จัดทำโดย IEP คำนวณศักยภาพทางการทหารของประเทศต่าง ๆ โดยรวมความซับซ้อนทางการทหาร เทคโนโลยี และความพร้อมในการรบเข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีศักยภาพทางการทหารสูงกว่าจีนอย่างมาก ตามติดด้วยรัสเซีย ทั้งนี้ แนวทางประเมินศักยภาพทางการทหารแบบเก่าโดยทั่วไปนับเฉพาะจำนวนสินทรัพย์ทางทหารเท่านั้น
ไฮไลต์ระดับภูมิภาค
- ยุโรปยังคงเป็นภูมิภาคที่สงบสุขที่สุด อย่างไรก็ตาม มีค่าใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นเผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลก
- อเมริกาเหนือเกิดการเสื่อมถอยในระดับภูมิภาคมากที่สุด โดยลดลงเกือบ 5% ทั้งสหรัฐฯ และแคนาดามีความสงบสุขลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสาเหตุหลักจากการเกิดอาชญากรรมรุนแรงและความกลัวต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น
- ปัจจุบัน ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราเป็นภูมิภาคที่สงบสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับสองรองจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เนื่องจากเผชิญกับวิกฤตด้านความปลอดภัยหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะความไม่สงบทางการเมืองและการก่อการร้ายในแถบซาเฮลกลางที่เพิ่มขึ้น
- เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นภูมิภาคที่สงบสุขที่สุดเป็นอันดับสองโดยมีความสงบสุขลดลงเล็กน้อย ปาปัวนิวกินีมีความสงบสุขลดลงมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากความรุนแรงระหว่างชนเผ่าที่เพิ่มขึ้นจากข้อพิพาทเรื่องดินแดนและการถือครองที่ดิน
- อเมริกากลางและแคริบเบียนมีความสงบสุขลดลงเล็กน้อย เนื่องจากประเทศต่าง ๆ อย่างเฮติต้องต่อสู้กับอาชญากรรมองค์กรระดับสูงและความไม่สงบภายในประเทศ อย่างไรก็ดี เอลซัลวาดอร์มีความสงบสุขปรับปรุงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่สุดในโลก
- อเมริกาใต้มีความสงบสุขลดลงมากที่สุดเป็นอันดับสอง ซึ่งลดลง 3.6% โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดกับปัจจัยชี้วัดด้านอัตราการเกิดฆาตกรรม มาตรวัดความหวาดกลัวทางการเมือง และความรุนแรงของความขัดแย้งภายใน
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2567 ได้ที่เว็บไซต์ visionofhumanity.org และ economicsandpeace.org ส่วนรายงานฉบับเต็ม บทความ และแผนที่เว็บเชิงปฏิสัมพันธ์ พร้อมให้บริการแล้วที่เว็บไซต์ visionofhumanity.org
เอ็กซ์: @globpeaceindex
เฟซบุ๊ก: facebook.com/globalpeaceindex
อินสตาแกรม: instagram.com/globalpeaceindex
เกี่ยวกับดัชนีสันติภาพโลก
รายงานดัชนีสันติภาพโลก (GPI) จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าทางเศรษฐกิจ แนวโน้ม และการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุมประชากรโลก 99.7% และใช้ปัจจัยชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ประการจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อจัดทำดัชนี โดยปัจจัยชี้วัดเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ความปลอดภัยและความมั่นคง และการขยายอิทธิพลทางทหาร
เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และไนโรบี
โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/792052/4102581/IEP_Logo.jpg?p=medium600