บากู, อาเซอร์ไบจาน, 19 พฤศจิกายน 2567 /PRNewswire/ — เมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2567 ดร. Ma Jun ประธานร่วมของคณะทำงานด้านระบบจัดหมวดหมู่ของแพลตฟอร์มระหว่างประเทศว่าด้วยการเงินอย่างยั่งยืน (IPSF) และประธานของกลุ่มพันธมิตรการเสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน (Capacity-building Alliance of Sustainable Investment: CASI) ได้บรรยายในการเสวนาเกี่ยวกับการเงินอย่างยั่งยืนหลายรายการในระหว่างการประชุม COP29 โดยได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับระบบจัดหมวดหมู่บนพื้นฐานร่วมที่ครอบคลุมหลายเขตอำนาจรัฐ (Multi-Jurisdiction Common Taxonomy: MCGT) เขาชี้ว่าการเปิดตัวระบบ MCGT เป็นหมุดหมายสำคัญเพื่อเพิ่มความสอดคล้องและสามารถทำงานร่วมกันได้ของระบบจัดหมวดหมู่ในเขตอำนาจรัฐที่แตกต่างกัน และส่งเสริมการไหลเวียนของเงินทุนสีเขียวข้ามพรมแดน
ในการเสวนาที่จัดโดยแพลตฟอร์มระหว่างประเทศว่าด้วยการเงินอย่างยั่งยืน (International Platform on Sustainable Finance: IPSF) ดร. Ma ได้อธิบายถึงข้อพิจารณาสำคัญของความพยายามระดับนานาชาติเพื่อพัฒนา "ภาษาเดียวกัน" สำหรับใช้ระบุชี้และจัดหมวดหมู่กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเสี่ยงของการแบ่งแยกตลาดและต้นทุนการทำธุรกรรมอันเนื่องมาจากการขยายตัวของระบบจัดหมวดหมู่เพิ่มขึ้นตามเขตอำนาจรัฐที่แตกต่างกัน ในช่วงปี 2563 – 2565 คณะทำงานด้านระบบจัดหมวดหมู่ของ IPSF ซึ่งมีจีนและสหภาพยุโรปร่วมเป็นประธาน ได้เผยแพร่ระบบจัดหมวดหมู่บนพื้นฐานร่วม หรือ Common Ground Taxonomy (CGT) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 72 รายการที่ทั้งสองเขตเศรษฐกิจให้การยอมรับ นับตั้งแต่การเผยแพร่ CGT ในปี 2565 ผู้ออกตราสารในจีนได้นำระบบนี้ไปใช้จัดหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่ซื้อขายในระดับสากลและในประเทศ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนลงได้
ในปี 2566 สิงคโปร์ได้เข้าร่วมนำระบบ CGT ไปใช้ดำเนินการ และได้ร่วมมือกับสหภาพยุโรปและจีนเพื่อจัดทำระบบจัดหมวดหมู่บนพื้นฐานร่วมที่ครอบคลุมหลายเขตอำนาจรัฐ (MCGT) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 110 รายการที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสามเขตอำนาจรัฐ ดร. Ma เชื่อว่า MCGT เป็น "หมุดหมายที่สำคัญครั้งใหม่เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันได้ของระบบจัดหมวดหมู่ระหว่างเขตอำนาจรัฐต่าง ๆ" จากข้อเท็จจริงที่ว่ามีเขตอำนาจรัฐหลายแห่งนำระบบ CGT ไปใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบจัดหมวดหมู่ แสดงให้เห็นว่า MCGT ก็สามารถช่วยประเทศอื่นให้พัฒนาตลาดการเงินอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน
ในรายการเสวนาที่จัดโดยสเปนและคาซัคสถาน ดร. Ma ได้อภิปรายเกี่ยวกับการใช้งานที่สำคัญของระบบจัดหมวดหมู่ ซึ่งรวมถึงการกำหนดและจัดหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว การป้องกันการฟอกเขียว (greenwashing) การวัดผลและรายงานผลการดำเนินงานที่ยั่งยืน และการจัดสรรสิ่งจูงใจเชิงนโยบายให้กับผู้ดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เขาเน้นว่า เขตอำนาจรัฐแห่งอื่น ๆ ก็สามารถใช้ MCGT เป็นแนวทางอ้างอิงให้การพัฒนาระบบจัดหมวดหมู่ในประเทศของตนได้
ในงาน CASI Sustainability Forum for COP29 ซึ่งร่วมจัดโดยกลุ่ม CASI และ Azerbaijan University of Economics (UNEC) ดร. Ma ระบุว่า เพื่อยกระดับบทบาทระดับโลกของ MCGT ในการส่งเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกันได้ของระบบจัดหมวดหมู่ต่าง ๆ MCGT จึงมีแผนที่จะ "ขยายเพิ่มความครอบคลุมพื้นที่ โดยการเชิญประเทศอื่น ๆ ให้เข้าร่วมพัฒนา MCGT เวอร์ชันใหม่ในอนาคต"