ปักกิ่ง, 25 มีนาคม 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ — วันวัณโรคโลก (World Tuberculosis: TB) ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ซึ่งมีขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักว่า โรควัณโรคในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลกที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนอย่างร้ายแรง
จากรายงานวัณโรคทั่วโลกประจำปี 2566 (Global Tuberculosis Report 2023) ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ระบุว่าในปี 2565 มีผู้ป่วยเป็นวัณโรคกว่า 10.6 ล้านรายทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 1.3 ล้านคน
ก่อนถึงวันวัณโรคโลกปีนี้ เผิง ลี่หยวน (Peng Liyuan) ภริยาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีน และทูตสันถวไมตรีด้านวัณโรค และเอชไอวี/เอดส์ (HIV/AIDS) ของ WHO ได้เดินทางเยือนชุมชนท้องถิ่นในเมืองฉางซา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับงานป้องกันและรักษาวัณโรคของประเทศในระดับรากหญ้า
เธอได้เยี่ยมชมศูนย์สุขศึกษาเขตยู่ฮัวเป็นครั้งแรก เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความพยายามของสถาบันในการส่งเสริมการให้ความรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับวัณโรค รวมถึงการสร้างกลไกการป้องกัน และรักษาโรควัณโรค
เผิงได้เรียกร้องให้ทุกคนทำงานร่วมกันทั้งในฐานะผู้สนับสนุน และอาสาสมัครเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และการรักษาวัณโรคในหมู่ผู้คนในชุมชน และคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ เผิงยังได้พบปะกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการในชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นกันเอง และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการการวินิจฉัย และรักษาวัณโรคในระดับรากหญ้า
หลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้ป่วยวัณโรคที่หายดีแล้ว เด็กๆ และผู้ปกครองที่กำลังรอฉีดวัคซีน เผิงยังขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงานต่อไปเพื่อยุติการแพร่กระจายของโรควัณโรค
การดำเนินการของจีน
รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและรักษาวัณโรค และได้รวมเรื่องนี้ไว้ในยุทธศาสตร์จีนสุขภาพดี (Healthy China)
จ้าว หยานลิน (Zhao Yanlin) ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมวัณโรคของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (China CDC) ได้กล่าวกับไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (China Media Group) โดยชี้ให้เห็นว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการป่วยเป็นวัณโรคของจีนลดลงร้อยละ 25 ซึ่งมากกว่าอัตราการลดลงเฉลี่ยทั่วโลกถึงสองเท่า
จ้าวยังได้กล่าวอีกว่า ในปี 2566 ยอดเงินทุนระดับชาติทั้งหมดสำหรับการป้องกันและควบคุมวัณโรคนั้นสูงกว่าปี 2544 เกือบ 20 เท่า
จีนได้ปรับปรุงขีดความสามารถในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกันหลายภาคส่วน มีส่วนร่วมกับสังคมทุกระดับชั้น พร้อมส่งเสริมเทคนิคการวินิจฉัย แนวทางการบำบัด และเครื่องมือการจัดการใหม่ๆ อย่างแข็งขัน ซึ่งส่งผลให้อัตราการรักษาวัณโรคให้หายในประเทศยังคงอยู่สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
WHO และสหประชาชาติ (United Nations: UN) ต่างก็คาดหวังว่าเยาวชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันวัณโรค และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้กับทุกคน
จีนยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอาสาสมัครรุ่นเยาว์ และสนับสนุนให้ประชาชนอาสาเข้าร่วมในการป้องกันและควบคุมวัณโรค ในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนอาสาสมัครในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวมากกว่าครึ่ง
https://news.cgtn.com/news/2024-03-24/China-advances-battle-against-tuberculosis-1seyW34OSXe/p.html