เปิดตัวโครงการริเริ่มนี้ในวันระบบเกษตรและอาหารที่การประชุม COP16 ณ กรุงริยาด
ริยาด, ซาอุดีอาระเบีย, 6 ธันวาคม 2567 /PRNewswire/ — ซาอุดีอาระเบียในฐานะประธาน UNCCD COP16 ได้ประกาศเปิดตัวแผนปฏิบัติการริยาด (Riyadh Action Agenda) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มสำคัญที่มุ่งระดมความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างทางออกที่ยั่งยืนให้กับปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และภัยแล้ง
ดร. Osama Faqeeha รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านสิ่งแวดล้อม สังกัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตร และที่ปรึกษาประธานการประชุม UNCCD COP16 ได้ประกาศเปิดตัวแผนปฏิบัติการริยาดอย่างเป็นทางการ ระหว่างการกล่าวปาฐกถาในการเสวนาระดับสูงว่าด้วยระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม แผนปฏิบัติการริยาดนี้จะสานต่อแรงขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการประชุม COP16 ที่กรุงริยาด โดยจะสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านสิ่งแวดล้อมรายสำคัญตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ซาอุดีอาระเบียดำรงตำแหน่งประธาน UNCCD COP16 เพื่อส่งเสริมการลงมือปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสำหรับทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงชนพื้นเมือง
ดร. Osama Faqeeha กล่าวถึงการประกาศครั้งนี้ว่า "หากเราต้องการเร่งโครงการฟื้นฟูที่ดินและสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยแล้งให้เกิดขึ้นในระดับและความเร็วที่จำเป็น เราจำเป็นต้องระดมและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแม้หลังจากการประชุม COP16 ที่ริยาดจะสิ้นสุดลง เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำของซาอุดีอาระเบียในด้านการฟื้นฟูที่ดิน และสร้างมรดกแห่งการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่ยั่งยืน"
การเปิดตัวแผนปฏิบัติการริยาดมีขึ้นในวันที่ 4 ของการประชุม COP16 ณ กรุงริยาด ซึ่งตรงกับวันระบบเกษตรและอาหาร (Agri-food System Day) 1 ใน 7 วันหัวข้อพิเศษที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมการอภิปรายและการเจรจาต่อเนื่อง ภาคเกษตรกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของที่ดิน โดยระบบเกษตรและอาหารในปัจจุบันส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อมูลของ UNCCD พบว่า ภาคการเกษตรมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 23% การตัดไม้ทำลายป่า 80% และการใช้น้ำจืด 70%
ตลอดทั้งวันมีการจัดกิจกรรมมากมาย เพื่อหาทางออกแบบพหุภาคีในการแก้ปัญหาการทำเกษตรที่ไม่ยั่งยืน มีการหารือในการประชุมสำคัญหลายครั้ง ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเพิ่มคุณภาพดิน การปลูกพืชที่ทนทาน และการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ วันระบบเกษตรและอาหารยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและกสิกรรมในการปฏิรูประบบอาหาร การประชุมนี้จัดขึ้นในวันดินโลก ซึ่งเป็นงานประจำปีระดับโลกที่รณรงค์เพื่อการจัดการดินอย่างยั่งยืนทั่วโลก
ดร. Faqeeha กล่าวว่า "อาหารประมาณ 95% ของเรามาจากดิน แต่เรากลับทำตัวราวกับว่าดินเป็นเพียงสิ่งสกปรก โดยการจัดการที่ดินที่ไม่ยั่งยืน แนวปฏิบัติทางการเกษตร และการแสวงหากำไรในระดับอุตสาหกรรม กำลังทำให้ดินเสื่อมโทรมในอัตราที่ไม่ยั่งยืน โดยในแต่ละปีเราสูญเสียดินที่อุดมสมบูรณ์ถึง 2.4 หมื่นล้านตัน นี่เป็นสาเหตุหลักของความไม่มั่นคงด้านอาหารและน้ำในระดับโลก ส่งผลกระทบต่อทุกคน ตั้งแต่เกษตรกรที่ต้องทำงานในพื้นที่ที่แห้งแล้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าสินค้าจำเป็นในราคาที่สูงขึ้น"
UNCCD คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ผลผลิตทางการเกษตรอาจลดลง 10% ทั่วโลก และลดลงถึง 50% ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด สถานการณ์นี้อาจทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของประชากรคาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้ที่ดินและผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
"เราไม่จำเป็นต้องคิดค้นอะไรใหม่ เพื่อหาทางออกเร่งด่วนสำหรับวิกฤตที่กำลังคุกคามที่ดินและดินของเรา การนำเงินอุดหนุนภาคการเกษตรที่เป็นอันตรายมาลงทุนใหม่นั้น ช่วยให้เงินสนับสนุนการฟื้นฟูที่ดินและปฏิรูปแนวปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนได้เกือบจะในทันที" ดร. Faqeeha กล่าวเสริม
เกี่ยวกับการประชุม COP16 ที่รียาด
การประชุม UNCCD COP16 มีขึ้นระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 2567 ที่ Boulevard Riyadh World ประเทศซาอุดีอาระเบีย การประชุมภายใต้หัวข้อ Our Land. Our Future จะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของ UNCCD และมีเป้าหมายให้เกิดการดำเนินการพหุภาคีในประเด็นสำคัญ เช่น ความสามารถรับมือภัยแล้ง การถือครองที่ดิน และพายุทรายและฝุ่น
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UNCCD COP16 หรือลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้าร่วม Green Zone ได้ที่ UNCCDCOP16.org
รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/2575029/COP16_Riyadh_Action_Agenda.jpg
โลโก้: https://mma.prnewswire.com/media/2556588/5061866/UNCCD_COP16__Logo.jpg