อัมสเตอร์ดัม, 23 พฤษภาคม 2567 /PRNewswire/ — ปัจจุบันกำลังขาดการแข่งขันเพื่อพัฒนายาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อราประเภทใหม่เพื่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหรือซูเปอร์บักส์ (Superbugs) อย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงการลงทุนกับการวางแผนการเข้าถึงและการดูแลจะสามารถสร้างผลกระทบสำคัญเพื่อป้องกันภาวะดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance: AMR) ได้
เนื่องจากบริษัทเภสัชกรรมขนาดใหญ่ส่วนมากที่เน้นการวิจัยไม่มีความเคลื่อนไหวด้านการวิจัยและพัฒนายาต้านจุลชีพอีกต่อไป จึงมีการรักษาใหม่เพียงไม่กี่วิธีที่สามารถเข้าสู่ตลาด ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากภาวะดื้อยาต้านจุลชีพที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี โครงการซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาทางคลินิกในระยะสุดท้ายที่มีอยู่ไม่กี่โครงการก็อาจสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้
รายงานฉบับใหม่จากมูลนิธิเพื่อการเข้าถึงยา (Access to Medicine Foundation) ได้ติดตามห้าโครงการดังกล่าว ได้แก่ โครงการของบริษัท GSK, F2G, Innoviva, Venatorx (ยา Gepotidacin, Olorofim, Zoliflodacin และ Cefepime-taniborbactam ตามลำดับ) และยา Aztreonam-avibactam (Emblaveo®) ของ Pfizer ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อไม่นานมานี้ โครงการเหล่านี้โดยรวมสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างน้อย 160,000 คนต่อปีด้วยการให้ยาที่จำเป็นเพื่อรักษาโรคหนองใน การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ในช่องท้อง ระบบทางเดินหายใจ และการติดเชื้อรารุกรานที่เกิดการดื้อยา แม้โรคเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ทั่วโลก แต่ผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (LMICs) ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ
"เรามีอาวุธขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันเพื่อสู้กับการติดเชื้อที่ดื้อต่อยา ความแตกต่างระหว่างการชนะหรือแพ้ในการแข่งขันครั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทต่าง ๆ จะสามารถให้ผู้ที่อยู่ท่ามกลางอันตรายของภาวะดื้อยาเข้าถึงการรักษาได้อย่างไร" Jayasree K. Iyer ซีอีโอของมูลนิธิเพื่อการเข้าถึงยากล่าว
ผลการวิจัยเผยว่าบริษัทต่าง ๆ กำลังใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายในแผนเข้าถึงและการดูแล แต่การวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบยังไม่กลายเป็นมาตรฐาน ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่บริษัทสี่ในห้าแห่งในขอบข่ายการศึกษา คือ GSK, Pfizer, Innoviva และ Venatorx กำลังดำเนินการหรือเริ่มการทดลองทางคลินิกที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายเด็กโดยตรง ซึ่งแสดงให้เห็นความก้าวหน้าในการขจัดช่องว่างการเข้าถึงยาระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก มีห้าประเทศในกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลางแสดงความมุ่งมั่นที่จะลงทะเบียน ได้แก่ จีน อินเดีย เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และไทย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 108 แห่งจาก 113 ประเทศในขอบข่ายที่ผู้คนยังคงเผชิญภาระหนักอึ้งจากโรคที่เป็นเป้าหมายของโครงการเหล่านี้ ในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถใช้ยาใด ๆ เหล่านี้ได้หรือไม่เมื่อได้รับการอนุมัติในขั้นต้น
ทั้งนี้ รายงานยังระบุชี้โอกาสและคำแนะนำให้แก่บริษัทที่เป็นจุดสนใจ และสรุปขั้นตอนที่สามารถดำเนินการได้ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั่วโลกด้านการวิจัยและพัฒนายาต้านจุลชีพเพื่อส่งเสริมให้นำการวางแผนเข้าถึงและการดูแลล่วงหน้าไปใช้ในวงกว้าง
"การจัดการกับขอบเขตและความเร็วของภาวะดื้อยาเป็นปัญหาด้านสุขภาพระดับโลกที่ซับซ้อนที่ต้องให้บริษัทเภสัชกรรมลงมือดำเนินการในหลายด้าน รวมถึงการให้ผู้คนเข้าถึงยาได้อย่างเหมาะสม และการนำมาตรการดูแลควบคุมไปดำเนินการเพื่อรักษาประสิทธิภาพของยาต้านจุลชีพที่เป็นนวัตกรรมใหม่ หากไม่ดำเนินการดังกล่าวก็จะไม่สามารถจัดการกับปัญหาการดื้อยาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ" Marijn Verhoef ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและวิจัยของมูลนิธิเพื่อการเข้าถึงยากล่าว
ในขณะที่ผู้มีส่วนได้เสียในวงการสุขภาพทั่วโลกเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมระดับสูงของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพประจำปี 2567 รายงานฉบับนี้จึงออกมาในช่วงเวลาที่สำคัญ โดยเน้นให้เห็นช่องว่างที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเร่งด่วน สามารถอ่านรายงานที่นี่