จาการ์ตา อินโดนีเซีย, 22 มีนาคม 2567, /พีอาร์นิวส์ไวร์/ —- เทลคอมเซล (Telkomsel) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับชั้นนำ และหัวเว่ย (Huawei) ผู้ให้บริการโซลูชันไอซีที (ICT) ระดับโลกได้เปิดตัวคลังสินค้าอัจฉริยะ 5G และศูนย์นวัตกรรม 5G แห่งแรกในอินโดนีเซียที่เมืองเบกาซี จังหวัดชวาตะวันตก อาคารสำคัญแห่งนี้ได้จัดแสดงศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ในการพลิกโฉมการจัดการคลังสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างโอกาสใหม่สำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจดิจิทัลก้าวกระโดดไปสู่วิสัยทัศน์ Golden Indonesia Vision 2045
พิธีเปิดดำเนินพิธีโดยคุณ หลง (Long) ซีอีโอของหัวเว่ย อินโดนีเซีย (Huawei Indonesia) และมีบุคคลสำคัญมากมายมาเข้าร่วมในพิธี เช่น ดร. วศ. อิสมาอิล เอ็มที (Ismail MT) อธิบดีฝ่ายการจัดการทรัพยากรและอุปกรณ์บริการไปรษณีย์และสารสนเทศ กระทรวงโทรคมนาคมและสารสนเทศ (Ministry of Communication and Informatics) อินดรา มาร์เดียตนา (Indra Mardiatna) ผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายของเทลคอมเซล เดอร์ริค เฮง (Derrick Heng) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของเทลคอมเซล มาเฮนดรา ริอันโต (Mahendra Rianto) ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งอินโดนีเซีย และตัวแทนจากสถาบันเทคโนโลยีบันดุง (Bandung Institute of Technology) มหาวิทยาลัยเทลคอม (Telkom University) และตัวแทนคนอื่นๆ จากพันธมิตรในอุตสาหกรรม
อธิบดีดร. วศ. อิสมาอิล เอ็มที ได้กล่าวย้ำว่า "คลังสินค้าอัจฉริยะ 5G ของหัวเว่ยถือเป็นทั้งสัญญาณปลุกให้ตื่นตัว และแบบจำลองสำคัญสำหรับระบบนิเวศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการเทคโนโลยี 5G เข้ากับความพยายามในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้ในทันทีอย่างราบรื่น ซึ่งเห็นได้ชัดว่า การบูรณาการนี้ก่อให้เกิดโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมที่ขยับขยายผลประโยชน์ออกไปนอกภาคส่วนโลจิสติกส์ และไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ความก้าวหน้าเช่นนี้เกิดขึ้นได้ผ่านความพยายามร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียทุกคน ซึ่งรวมตัวกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลในระดับประเทศ"
คุณ หลง ซีอีโอของหัวเว่ยอินโดนีเซียได้กล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการสนับสนุนภาครัฐ และผู้เล่นในอุตสาหกรรมเพื่อปลดล็อกโอกาสทางดิจิทัลของอินโดนีเซีย "ในการประชุมสุดยอด Solo 5G ในปีผ่านมา เราได้ให้คำมั่นร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมระบบนิเวศ 5G และคลังสินค้าอัจฉริยะ 5G ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงคุณค่าที่เทคโนโลยี 5G นำมามอบให้กับอุตสาหกรรมดั้งเดิมในอินโดนีเซียได้" เขากล่าว
อินดรา มาร์เดียตนา ผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายของเทลคอมเซล กล่าวว่า "เทลคอมเซลยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งมอบการเชื่อมต่อที่เหนือชั้น บุกเบิกโซลูชั่นใหม่ๆ และบริการที่สร้างสรรค์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ และกระตุ้นโอกาสอันกว้างขวางให้กับการเติบโตของผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอินโดนีเซียในการบุกเบิกนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศ เราเชื่อว่าการใช้งานคลังสินค้าอัจฉริยะ 5G ควบคู่ไปกับโซลูชั่นแนวคิดของศูนย์นวัตกรรม 5G จะเป็นการเปิดศักราชแห่งการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนโลจิสติกส์ ผ่านการเสริมขีดความสามารถในการจัดการ และขยับขยายประสิทธิภาพในการดำเนินงานระบบคลังสินค้า เทลคอมเซลให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาที่รวดเร็วของการค้าดิจิทัล และภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ความอนุเคราะห์จากกระทรวงการสื่อสารและข้อมูล และการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงหัวเว่ย สมาคมอุตสาหกรรม และชุมชนวิชาการ
เศรษฐกิจดิจิทัลได้รับการคาดการณ์ว่าจะเป็นตัวเร่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงวางแผนการพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development Planning/Bappenas) ต้นทุนโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียได้ลดลงจาก 23.5% เป็น 14.29% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2566
ข้อดีของคลังสินค้าอัจฉริยะ 5G
คลังสินค้าอัจฉริยะ 5G ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ไอโอที (IoT) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน ยกระดับความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงาน และลดการสูญเสียที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น
ผู้จัดการคลังสินค้าสามารถใช้ดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าคงคลัง และป้องกันสินค้าขาดมือ
เครือข่าย 5G ยังอำนวยความสะดวกให้พนักงานและยานพาหนะนำทางอัตโนมัติ หรือเอจีวี (AGV) สามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะที่ใช้งานเซ็นเซอร์วิดีโอ และอินฟราเรดจะช่วยให้คลังสินค้ามีความปลอดภัยอีกด้วย
เทคโนโลยี 5G BTS ของหัวเว่ยที่ขับเคลื่อนคลังสินค้ามีการใช้พลังงานเพียง 5 วัตต์ โดยเทียบเท่ากับหลอดไฟประหยัดพลังงานเพียงหลอดเดียว ซึ่งนับว่าเป็นโซลูชั่นที่ยั่งยืนสำหรับอนาคตอย่างยิ่ง