อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, 7 มีนาคม 2567 /PRNewswire/ — อาบูดาบีโกลบอลมาร์เก็ต (Abu Dhabi Global Market) หรือเอดีจีเอ็ม (ADGM) ได้ประกาศให้ปี 2566 เป็นปีแห่งความสำเร็จของเมืองหลวงยูเออีในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำถึงศักยภาพของเมืองในฐานะศูนย์กลางทางการเงินที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องถึงสองปี ในขณะที่อาบูดาบีก้าวขึ้นศูนย์กลางทางการเงินที่ได้รับการยอมรับในทั่วโลก
เอดีจีเอ็มได้เริ่มต้นปี 2566 อย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตอย่างมากในปี 2565 ประกอบกับแนวโน้มเชิงบวกสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง ซึ่งได้รับการตอกย้ำผ่านตัวเลขการเติบโตรายไตรมาส และรายครึ่งปีของปี 2566 ในทุกด้าน
ศูนย์กลางทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค
ภาคการจัดการสินทรัพย์ของเอดีจีเอ็มได้เริ่มต้นปี 2566 ได้อย่างเข้มแข็ง และปิดปีได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งกว่า เนื่องจากมีผู้จัดการสินทรัพย์ทั่วโลกได้หลั่งไหลเข้ามาจัดตั้งการดำเนินงานในไอเอฟซี (IFC) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
มูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการ (AUM) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 35% เมื่อเมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2565 โดยข้อมูลสรุปสิ้นปีในแสดงให้เห็นว่า มีบริษัทการลงทุนและกองทุนบริหารความเสี่ยงจำนวนมากเข้ามาจัดตั้งในเอดีจีเอ็ม ส่งผลให้จำนวนผู้จัดการสินทรัพย์ทั้งหมดที่ดำเนินงานในเอดีจีเอ็มเพิ่มขึ้นเป็น 102 ราย ซึ่งกำลังบริหารจัดการกองทุนถึง 141 กองทุน
เอดีจีเอ็มได้ก้าวขึ้นมาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับธุรกิจข้ามพรมแดน และได้เห็นยักษ์ใหญ่ระดับโลกและระดับภูมิภาคในภาคส่วนนี้เข้ามาจัดตั้งการดำเนินงานในเอดีจีเอ็ม โดยมีนิติบุคคลที่ดำเนินงานอยู่เพิ่มขึ้นเป็น 1,825 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับในปี 2565 (มีนิติบุคคลที่ดำเนินงานอยู่ 1,378 รายในปี 2565) ซึ่งประกอบไปด้วยรายชื่อบางส่วนที่น่าสนใจอาทิ เช่น บรีวาน โฮเวิร์ด (Brevan Howard), อาร์เดียน (Ardian), โกลด์แมน ซาคส์ (Goldman Sachs), ติเคเฮา แคปปิตอล) (Tikehau Capital, แบล็คสโตน (Blackstone), เอสบีไอ แคปปิตอล (SBI Capital), ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB), อพอลโล (Apollo), ฟิฟธ์ วอลล์ (Fifth Wall), ฟิเดอรา (Fidera) และ ไวแบรนท์ แคปปิตอล (Vibrant Capital) รวมถึงนิติบุคคลท้องถิ่นและประจำภูมิภาคที่มีชื่อเสียง เช่น เอดีคิว (ADQ), จี42 (G42), กัลฟ์ แคปปิตอล (Gulf Capital), วันไอเอ็ม (OneIM) และอินเวสคอร์ป (Investcorp) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอีกกว่า 125 แห่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนกับเอดีจีเอ็มอีกด้วย
ตัวเลขสิ้นปี 2566 ยังรวมไปถึงสถาบันการเงิน 88 แห่ง และตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งที่ได้รับไอพีเอ (IPA) จากเอดีจีเอ็ม ซึ่งนับเป็นตัวเลขส่วนใหญ่ของภาคการจัดการสินทรัพย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์จำนวนมากที่ย้ายเข้าในเอดีจีเอ็มได้ส่งผลให้ผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์และกองทุนชั้นนำ เช่น ผู้ให้บริการด้านการบัญชีกองทุนและการบริหารกองทุนต่างพร้อมใจกันใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เอดีจีเอ็มได้ปลดล็อก
การเติบโตนี้ได้รับการพิสูจน์ผ่านจำนวนพนักงานในเอดีจีเอ็มที่เพิ่มขึ้นเป็น 13,394 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 22% ในปีเดียว โดยมีสถาบันการเงินและธนาคารเพื่อการลงทุนระดับโลกหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในเอดีจีเอ็ม เช่น เจพีมอร์แกน (JP Morgan) และบีเอ็นพี พารีบาส์ (BNP Paribas)
ฯพณฯ อาเหม็ด จาซิม อัล ซาบี ประธานเอดีจีเอ็ม กล่าวว่า "ปีแห่งเศรษฐกิจที่พุ่งทะยานของอาบูดาบี และปีแห่งการเติบโตที่ยอดเยี่ยมของอาบูดาบีโกลบอลมาร์เก็ต เมื่อเรานำปัจจัยเหล่านี้มาคิดรวมกันแล้ว สิ่งนี้ทำให้เราตระหนักได้ว่า ความสม่ำเสมอ ความไม่ย่อท้อ และการปรับตัวให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลสำเร็จได้มากเพียงใด ในเวลาเพียง 8 ปี เราก็ได้กลายเป็นหนึ่งในย่านการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน"
ฯพณฯ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า "การยกระดับสถานะทางสากลของอาบูดาบีให้เป็น "มหานครแห่งเงินทุน" ช่วยให้เอดีจีเอ็มได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเมืองหลวงในด้านภูมิทัศน์ทางการเงิน และปลดล็อกโอกาสเชิงกลยุทธ์ภายในภาคส่วนต่างๆ ที่สำคัญ การเติบโตที่เราเห็นได้ทุกวันนี้เกิดขึ้นได้จากการบรรลุวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำของยูเออี ซึ่งเรายังคงทัศนคติเชิงบวกอย่างแข็งแกร่งในขณะที่เราก้าวไปสู่ปี 2567"
ADFW 2023 – บริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเงินได้หลั่งไหลเข้าสู่อาบูดาบี
งาน Abu Dhabi Finance Week (ADFW) 2023 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอีเวนต์ด้านการเงินในภูมิภาคผ่านการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดจากทั่วโลก งานอีเวนต์ดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการรองรับผู้เข้าร่วมมากกว่า 18,000 คน โดยมีฟอรั่ม 5 เวทีที่ประกอบด้วยอีเวนต์ย่อยถึง 46 รายการ เซสชัน 180 เซสชัน และวิทยากรระดับนานาชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น 300 คนจากภูมิหลังที่หลากหลาย ซึ่งนับว่าเป็นงานที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วม 39% เป็นตัวแทนของผู้เข้าร่วมทั่วโลกจากกว่า 100 ประเทศ
บุคคลชื่อดังระดับนานาชาติของอุตสาหกรรมการเงิน เช่น เจมี ดิมอน (Jamie Dimon) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน และเรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) ผู้ก่อตั้ง ประธานร่วม และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนร่วมของบริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอทส์ (Bridgewater Associates) ได้กล่าวถึงการก้าวขึ้นมาของอาบูดาบี ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกในงาน ADFW
ทั้งนี้ยังมีบันทึกประกาศตลาด 23 รายการในระหว่างงาน Abu Dhabi Finance Week รวมถึงการอัปเกรดการดำเนินงานที่สำคัญโดยธนาคารโลก (The World Bank) และเจพีมอร์แกน พร้อมด้วยกลุ่มสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านฟินเทคและการเงินที่ยั่งยืน
ปีแห่งความยั่งยืนและ COP28
ในขณะที่ "ปีแห่งความยั่งยืน" หรือปี 2566 ก้าวเข้าสู่ปี 2567 และงานประชุม COP28 ซึ่งจัดขึ้นในยูเออีได้ปิดฉากลง เอดีจีเอ็มได้เป็นผู้นำโครงการริเริ่มหลายโครงการเพื่อส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนของอาบูดาบี และยูเออีได้อย่างลงตัว
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เอดีจีเอ็มได้นำเสนอกรอบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมสำหรับการเงินที่ยั่งยืนเป็นครั้งแรกในภูมิภาค ตามด้วยการเผยแพร่แถลงการณ์ต่อสาธารณะครั้งที่ 3 ของคณะทำงานด้านการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance Working Group) หรือเอสเอฟดับบลิวจี (SFWG) ของยูเออี โดยมีเอดีจีเอ็มเป็นประธาน ซึ่งเน้นย้ำวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการของเอสเอฟดับบลิวจี ก่อนงานประชุม COP28 ทั้งนี้ยังมีการประกาศในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเพื่อแต่งตั้งเอดีจีเอ็มเป็น "พันธมิตรทางการเงินหลักด้านสภาพภูมิอากาศ" ของงาน COP28 และกลายเป็นที่ตั้งของศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก" (Global Climate Finance Centre หรือ GCFC) ซึ่งจะเข้ามาเร่งการพัฒนากรอบและทักษะด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และทั่วโลก ในงาน COP28 นี้ ยังมีการเปิดตัวอัลเทอร์รา (ALTÉRRA) ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเอดีจีเอ็ม ที่จะขับเคลื่อนความพยายามระดับนานาชาติในการสร้างระบบการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น โดยมุ่งปรับปรุงการเข้าถึงเงินทุนสำหรับโลกใต้ (Global South)
นอกจากนี้ ผู้ลงนามใหม่ 28 รายได้ลงนามในปฏิญญาการเงินที่ยั่งยืนอาบูดาบี (Abu Dhabi Sustainable Finance Declaration) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่นำโดยเอดีจีเอ็ม ส่งผลให้จำนวนผู้ลงนามทั้งหมดเพิ่มขึ้นมาเป็น 145 ราย
ความสำเร็จที่สำคัญ – ปี 2566
- เอดีจีเอ็มได้ขยับขยายใหญ่ขึ้นถึง 10 เท่า โดยนำเกาะอัล รีม มาอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งผลให้เอดีจีเอ็มเป็นย่านการเงินนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ถึง 14.38 ล้านตารางเมตร
- เอดีจีเอ็มเปิดตัวรายงานการประเมินความเสี่ยงการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ML/TF) ของรายงานนิติบุคคลและผู้ที่มีการตกลงกันทางกฎหมายของเอดีจีเอ็ม (รายงาน LPA) เป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2566
- เอดีจีเอ็ม เอฟเอสอาร์เอ (ADGM FSR) ได้ประกาศแก้ไขกฎและคำแนะนำในการต่อต้านการฟอกเงินและการลงโทษ ("หนังสือกฎ AML")
- หน่วยงานลงทะเบียน (RA) ของเอดีจีเอ็มเผยแพร่กรอบกฎหมายสำหรับมูลนิธิเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT)
โลโก้: https://mma.prnasia.com/media2/1696045/Abu_Dhabi_Global_Market_Logo.jpg?p=medium600