ประเทศต่าง ๆ กว่า 77 ประเทศเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง รวมถึงประเทศสมาชิก G20 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน และญี่ปุ่น
ริยาด, ซาอุดีอาระเบีย, 11 มกราคม 2567 /PRNewswire/ — การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกิจกรรมเปิดม่านการประชุมฟิวเจอร์ มิเนอรัลส์ ฟอรัม (Future Minerals Forum) ครั้งที่ 3 ได้จัดขึ้นในวันที่ 9 มกราคม 2567 โดยมีนายบันดาร์ อิบราฮิม อัลคอราเยฟ (Bandar Ibrahim AlKhorayef) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรแร่ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เป็นประธาน โดยในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมแร่และโลหะทั่วโลกได้มารวมตัวกันเพื่อหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อตอบสนองความต้องการในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด
การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2565 โดยมีจุดมุ่งหมายในการริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานกันในอุตสาหกรรมแร่ ซึ่งโครงการริเริ่มเหล่านี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ๆ อาทิ การกำหนดกรอบการทำงานด้านแร่สำคัญในภูมิภาค การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศ การตอบสนองความคาดหวังด้านอุปทานด้วยความรับผิดชอบ รวมถึงการสร้างศูนย์กลางการผลิตโลหะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีครั้งนี้จึงมีการจัดประชุมย่อย 4 หัวข้อตลอดทั้งวัน เพื่อหารือถึงประเด็นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่และพหุภูมิภาค (Super Region) ซึ่งประกอบด้วยการกำหนดกรอบการทำงานระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดหาแร่สำคัญ, ความยั่งยืน ความโปร่งใส และความรับผิดชอบในการพัฒนาแร่, การเสริมสร้างขีดความสามารถระดับภูมิภาคผ่านศูนย์ความเป็นเลิศ และการสร้างห่วงโซ่คุณค่าแร่ธาตุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การประชุมที่ทรงอิทธิพลนี้จัดขึ้น ณ กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย โดยดึงดูดรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของภาครัฐจากกว่า 77 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิก G20 เช่น ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ไปจนถึงประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการทำเหมืองแร่ เช่น ชิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ กานา สาธารณรัฐกินี คาซัคสถาน เม็กซิโก โมร็อกโก ปากีสถาน รัสเซีย แอฟริกาใต้ แซมเบีย และซิมบับเว ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่าการประชุมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมแร่ โดยเฉพาะในพหุภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่แอฟริกาไปจนถึงเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง
ทั้งนี้ นอกเหนือจากผู้แทนจากภาครัฐแล้ว การประชุมครั้งนี้ยังดึงดูดตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 13 องค์กร องค์กรพัฒนาเอกชน 15 องค์กร และสมาคมธุรกิจ 7 สมาคม อาทิ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ธนาคารโลก (World Bank) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) เป็นต้น
รูปภาพ – https://mma.prnasia.com/media2/2314697/Ministerial_Roundtable.jpg?p=medium600
โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/2002111/4486345/FMF_Logo.jpg?p=medium600