กว่า 77 ประเทศตบเท้าเข้าร่วมการประชุม รวมถึงประเทศในกลุ่ม G20 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน และญี่ปุ่น
ริยาด, ซาอุดิอาระเบีย, 10 มกราคม 2567 /PRNewswire/ — การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของการประชุมฟิวเจอร์ มิเนอรัลส์ ฟอรัม (Future Minerals Forum) ครั้งที่ 3 ได้จัดขึ้นในวันที่ 9 มกราคม 2567 โดยมีนายบันดาร์ อิบราฮิม อัลคอราเยฟ (Bandar Ibrahim AlKhorayef) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรแร่ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เป็นประธานการประชุม ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมแร่และโลหะทั่วโลก เพื่อมาร่วมหารือกันในประเด็นสำคัญ ๆ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อตอบสนองความต้องการในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด
การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงานในอุตสาหกรรมแร่ โครงการริเริ่มเหล่านี้ครอบคลุมประเด็นที่มีความสำคัญ เช่น การกำหนดหลักการสำหรับกรอบการทำงานที่สำคัญในระดับภูมิภาค การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศ การระบุความคาดหวังด้านอุปทานอย่างมีความรับผิดชอบ และการสร้างศูนย์กลางการผลิตโลหะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทุกประเทศที่เข้าร่วมการประชุมล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การทำงานร่วมกันเพื่อรักษาอนาคตของห่วงโซ่อุปทานแร่ให้มีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดทั่วโลก ตลอดจนบรรลุการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในอุตสาหกรรมแร่และโลหะ โดยภูมิภาคแอฟริกาไปจนถึงเอเชียตะวันตกและเอเชียกลางล้วนมีศักยภาพและความสามารถในการทำเหมืองแร่ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการในอนาคตได้
เวทีการประชุมอันทรงเกียรตินี้จัดขึ้นที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย โดยรวบรวมรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของภาครัฐจากกว่า 77 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศในกลุ่ม G20 เช่น ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตลอดจนประเทศสำคัญ ๆ ที่มีการทำเหมืองแร่ เช่น ชิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ กานา สาธารณรัฐกินี คาซัคสถาน เม็กซิโก โมร็อกโก ปากีสถาน รัสเซีย แอฟริกาใต้ แซมเบีย และซิมบับเว นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าการประชุมนี้มีความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกาไปจนถึงเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง
นอกจากผู้แทนจากภาครัฐแล้ว การประชุมครั้งนี้ยังรวบรวมตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 13 แห่ง องค์กรพัฒนาเอกชน 15 แห่ง และสมาคมธุรกิจ 7 แห่ง เช่น องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ธนาคารโลก (World Bank) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC)
โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/2314209/Future_Minerals_Forum_Logo.jpg?p=medium600