กรุงเทพฯ—30 พ.ย. 2566—พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
เงินเฟ้อทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน ทั้งยังเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต โดยผลการศึกษาล่าสุดจากมินเทล (Mintel) พบว่า คนไทย 48% เลื่อนหรือไม่ก็ยกเลิกแผนซื้อสินค้าราคาสูงเพราะสินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ 43% ซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับลดลง ส่วน 41% รับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง
ผลการศึกษาของมินเทลพบว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการเก็บเงินและตอบสนองความต้องการของตน โดยผู้บริโภคครึ่งหนึ่ง (50%) มองว่าความสำเร็จทางการเงินคือความสามารถในการใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ และ 55% กันเงินไว้ใช้เพื่อจับจ่ายใช้สอยตามใจตัวเอง
คุณวิลาสิณี ศิริบูรณ์พิพัฒนา (คุณไข่มุก) นักวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์อาวุโส มินเทล รีพอร์ท ประเทศไทย กล่าวว่า "จากข้อมูลที่พบในรายงานมินเทล เอแพค อีโคโนมิก แทร็กเกอร์ (Mintel APAC Economic Tracker) ปัญหาของแพงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อค่าครองชีพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ยังคงเป็นเรื่องที่คนไทย 75% มีความกังวล โดยแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาจัดการกับความกังวลนี้ได้ ด้วยการใช้ความคิดริเริ่มต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคตามใจตัวเองได้ในค่าใช้จ่ายที่จำกัด เช่น ออกสินค้าขนาดเล็กลงในราคาที่เอื้อมถึง หรือนำเสนอช่องทางทางการเงินเพื่อให้ดูแลจัดการเรื่องการซื้อของได้ง่ายขึ้น"
คนไทยไม่ค่อยมีความมั่นใจทางการเงิน หลาย ๆ คนมีปัญหาในการทำความเข้าใจทางการเงิน
ผลการศึกษาของมินเทลพบว่า คนไทย 42% พบว่าศัพท์เฉพาะทางการเงินเป็นเรื่องเข้าใจยาก และมีเพียง 36% เท่านั้นที่รู้สึกมั่นใจในความรู้ทางการเงินของตนเอง โดยผู้บริโภคอายุ 18-24 ปีและผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปมีระดับความเชื่อมั่นทางการเงินที่ต่ำกว่า (22% และ 18% ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุ 25-44 ปี ซึ่งมีเพียง 14% ของกลุ่มนี้ที่เผยว่า ‘ไม่มั่นใจ’ กับความรู้ทางการเงินของตน
คุณไข่มุก กล่าวว่า "สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและความตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีข้อมูลรองรับมากขึ้น"
ผลการศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นว่าคนไทย 46% ได้รับข้อมูลทางการเงินจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่าความรู้ทางการเงินเป็นที่เข้าถึงได้มากขึ้น โดยผู้บริโภคหันมามองหาช่องทางที่ตนเองสะดวกเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการเงินของตนเอง ซึ่งคุณไข่มุก ยังกล่าวว่า "แบรนด์ต่าง ๆ สามารถแบ่งปันข้อมูลทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของตนได้ ด้วยการสร้างเนื้อหาให้น่าเข้าหาและสื่อสารด้วยข้อความในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ๆ"
คนไทยหาเงินใช้หนี้ได้ลำบาก
ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements) เปิดเผยว่า ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในเอเชีย ตามหลังเกาหลีใต้และฮ่องกง ขณะที่รายงานภาคอุตสาหกรรมยังระบุด้วยว่า นอกจากคนรุ่นใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหาหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากและหาเงินมาคืนลำบากแล้ว ผู้สูงอายุก็ยังเกษียณโดยที่ยังมีภาระหนี้สินจำนวนมากและไม่มีเงินเก็บ
สถานการณ์เกี่ยวกับหนี้สินเช่นนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของมินเทล คนไทยหนึ่งในสี่ (23%) ยกให้การชำระหนี้บัตรเครดิตเป็นความท้าทายทางการเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป (25%)
ในทำนองเดียวกัน การรับมือกับหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาถือเป็นปัญหาท้าทายในกลุ่มผู้บริโภคอายุ 18-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาต่อเป็นส่วนใหญ่ (24% เทียบกับ 20% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด)
คุณไข่มุก กล่าวสรุปว่า "สุขภาพทางการเงินมีบทบาทสำคัญในความเป็นอยู่โดยรวม โดยผลการศึกษาของเราพบว่า คนไทยกว่าสองในสาม (69%) ตระหนักถึงผลกระทบที่สุขภาพทางการเงินมีต่อสุขภาพกายและใจ ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาระหนี้ ความไม่แน่นอนในการปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงิน และการไม่สามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐานได้ อาจทำให้รู้สึกทุกข์และไม่มีความสุขได้ โดยแบรนด์ต่าง ๆ สามารถวางตำแหน่งตนเองเป็นเพื่อนคู่คิดเพื่อช่วยผู้บริโภครับมือและเอาชนะปัญหาหนี้ได้ ด้วยการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงิน นำเสนอทางออกที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล หรือนำเสนอสินเชื่อที่เหมาะสม"